สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA”

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA” โดย ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. และ ดร.สุนีย์ คล้ายนิล ที่ปรึกษาโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ประเทศไทย หรือ พิซา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทน 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนผู้สนใจ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดคุณภาพด้านการศึกษาของประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะการแข่งขันของประเทศ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ 2560 – 2579 กำหนดดัชนีคุณภาพการศึกษาไว้ชัดเจน การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) แต่ละวิชาผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 ขึ้นไป ซึ่งในปี 2561 – 2564 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 50 ขณะที่ผลสอบพิซาของนักเรียนอายุ 15 ปี ในวิชาวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ มุ่งเน้นการประเมินสมรรถนะเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในสถานศึกษา ตั้งเป้าหมายเพิ่มคะแนนระดับ 500 คะแนน ในปี 2561 – 2564

“ผลประเมินทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติคือทั้งโอเน็ตและพิซาดังกล่าว ผู้บริหารการศึกษาสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษา และวางแผนการจัดการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ ข้อสรุปและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ทาง สกศ.จะได้นำไปปรับใช้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาชาติตามลำดับ” ดร.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า สทศ. เห็นว่าการยกระดับคุณภาพการศึกษาควรเริ่มต้นในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ปัจจัยที่ค้นพบคือ การฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเขียนตอบแบบอัตนัยจะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้ดีกว่าการทำสอบแบบปรนัย ที่มีแต่คำตอบแบบ ก ข ค ง เท่านั้น ซึ่งเป็นการปรับระบบความคิดของผู้เรียนในการจัดการความรู้ของตนเองที่มากกว่าการท่องจำ การสอบระดับชาติทำให้ผู้เรียนรู้ว่าตนเองอยู่ระดับใด และมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ คะแนนสอบโอเน็ตจะทำให้ทราบว่าผู้เรียนได้คะแนนวิชาใดสูงสุดเพื่อแข่งขันกับตัวเอง เมื่อเทียบกับเพื่อนในระดับ ขนาด จังหวัด ภาค และระดับประเทศอยู่ที่ระดับใด เพื่อนำไปใช้ในการประเมินและวางแผนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวย้ำว่าปัจจุบัน สทศ. ได้นำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยผลโอเน็ตใช้เป็นองค์ประกอบร้อยละ 30% ในการจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ใช้ในการบริหารการศึกษา โดย สทศ. มีรายงานผลโอเน็ตให้ผู้บริหารนำไปเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และลงลึกไปถึงสถานศึกษา และเห็นว่าครูอาจารย์คือปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังนั้น ทั้งข้อมูลและข่าวสารที่ได้จาก สทศ. ครูอาจารย์ต้องนำไปใช้วางแผนปรับปรุงการเรียนการสอน และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี ต่อไป

Advertisement

ดร.สุนีย์ คล้ายนิล ที่ปรึกษาพิซา กล่าวว่า ผลประเมินพิซาที่เกิดขึ้นระดับนานาชาติ เกิดจากปัจจัยและพื้นฐานสำคัญของประเทศต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งมีความเป็นเอกเทศของแต่ละชาติ สำหรับคะแนนพิซาประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาในหลายด้าน เช่น การส่งเสริมเพิ่มชั่วโมงการอ่าน ซึ่งประสบความสำเร็จในประเทศโปแลนด์ รวมทั้งการปรับพัฒนาครูที่มีสมรรถนะสูงในการสอนผู้เรียน คุณภาพการศึกษาที่ดีสะท้อนจากครูผู้สอน และไม่ควรคัดเลือกและแบ่งแยกผู้เรียน เพราะเด็กเก่งมีจำนวนน้อย ขณะที่เด็กไม่เก่งมีจำนวนที่มากกว่า ดังนั้น การจัดการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่แบ่งแยกหรือแยกสายการเรียนของผู้เรียน แต่จะให้เด็กทุกกลุ่มเรียนร่วมกันเพื่อกระตุ้นการพัฒนาตนเอง และสร้างสมรรถนะที่ดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น แนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษา ควรมุ่งเน้นส่งเสริมการอ่าน เป็นการอ่านด้วยการคิดวิเคราะห์ และตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันตั้งแต่วัยเด็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image