อธิการมทร.พระนคร ยันสภาแก้ข้อบังคับปลดล็อกคน 60 ปีชิงอธิการ ‘ทำได้-ไม่ผิดกม.’ อธิการนิด้าไขก๊อก

อธิการบดี มทร.พระนคร แจงปมสภาแก้ข้อบังคับปลดล็อกคน 60 ปีสมัครอธิการฯ ยันทำได้-เป็นอำนาจสภา พร้อมแจงรายได้แค่ 2.1 แสน/เดือน เล็งฟ้องคนปล่อยข่าว ขณะที่อธิการฯนิด้าไขก๊อก มีผล 30 ก.ย. ปัดเอี่ยวปมอธิการฯเกษียณ แจงต่ออายุราชการอีก 5 ปีเพื่อสอน-ทำวิจัย

กรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มอบหมายให้สภามหาวิทยาลัยรัฐ เฉพาะที่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการแก้ไขปัญหากรณีที่มีอธิการบดี/รักษาการอธิการบดีที่สภาแต่งตั้งอายุเกิน 60 ปี โดยขอให้ยึดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานที่ได้วินิจฉัยกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)กาญจนบุรี ว่า อธิการบดี/รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ จะมีอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ศธ.ได้เรียกนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เข้าให้ข้อมูลและสั่งการให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอภายใน 7 วันเพื่อจะช่วยหาทางออก ด้าน ผศ.ศุภวุฒิ เนตรโพธิ์แก้ว อดีตประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.พระนคร ระบุว่า สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) พระนคร ได้แก้ไขข้อบังคับ มทร.พระนคร ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ที่มีมติในที่ประชุมสภาให้แก้ไขเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 เพื่อปลดล็อกให้คนอายุเกิน 60 ปี มาบริหารมหาวิทยาลัยต่อไปได้ ซึ่งมองว่าขัดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นที่มาที่ ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง กรรมการสภา มทร.พระนคร ในฐานะกรรมการสรรหาอธิการบดี มทร.พระนคร จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการสรรหาอธิการบดี กลางที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีนั้น

เมื่อวันที่ 26 กันยายน รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) พระนคร เปิดเผยว่า กรณีที่ ผศ.ศุภวุฒิ เนตรโพธิ์แก้ว อดีตประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.พระนคร กล่าวหาตนในประเด็นต่างๆ นั้น ไม่เป็นความจริง โดยในกรณีที่ระบุว่า สภามีการแก้ไขข้อบังคับ มทร.พระนคร ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี หลังจากเริ่มกระบวนการสรรหา ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการแก้ข้อบังคับ มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ตลอดเวลาเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การทำงาน ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการสรรหาอธิการบดี สภามีอำนาจในการแก้ไขได้ โดยไม่ขัดกฎหมาย ยืนยันว่าการแก้ข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้เอื้อให้เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีสมัยที่ 2 แต่เป็นเพราะเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการบริหารงานบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีการแก้ไขข้อบังคับ โดยยกเลิกวรรคสาม ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ลูกจ้างที่อายุเกิน 60 ปี สายสนับสนุนและสายวิชาการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ปรับแก้ในส่วนของตำแหน่งบริหาร ดังนั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี และรับฟังความคิดเห็น จึงเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 แก้ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของฝ่ายบริหารด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และสภา มทร.พระนครมีมติออกข้อบังคับฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ขณะที่ทางสภารับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีมรภ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับว่ารับทราบคำสั่งศาลแล้วถึงมาแก้

รศ.สุภัทรากล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่า ตนถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หลายเรื่องนั้น กลุ่มที่แจ้ง ป.ป.ช.ก็คือคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ และพบว่าคดีไม่มีมูล และเรื่องทุกอย่างได้ยุติไปแล้ว ส่วนเรื่องที่บอกว่าได้รับรายได้รวมกว่า 5 แสนบาท ก็ไม่เป็นความจริง โดยได้รับรายได้ที่รวมสวัสดิการต่างๆ ไว้หมดแล้วเป็นจำนวนเงิน 212,505 บาท และเมื่อหักภาษีแล้วเหลือรับ 170,004 บาท เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า เงินเดือนอธิการบดีต้องไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับกรณีที่เรียกร้องให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีลาออกจากตำแหน่งนั้น ตนคงต้องดำเนินการตามกฎหมาย มทร. ที่เพิ่งเปลี่ยนสถานะจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มาเป็นมหาวิทยาลัยได้เพียง 14 ปี หลายอย่างต้องเรียนรู้ จึงมีความรู้สึกว่า ถ้าได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงาน จะทำให้เกิดประโยชน์กับมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าอายุไม่เกี่ยวกับการทำงาน ถ้าคนที่อายุน้อยแล้วคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าเหมาะสม ก็สามารถเป็นอธิการบดีได้

Advertisement

“ขณะนี้ยังงง ว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะการสรรหาอธิการบดีเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิสมัคร โดยขณะนี้ได้ประกาศออกมาแล้วว่ามีผู้เหมาะสมเข้ารับการสรรหาจำนวน 5 ราย หนึ่งในนั้นมีดิฉันรวมอยู่ด้วย ซึ่งดิฉันสมัครเข้ารับการสรรหา และมีหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเสนอชื่อ หากได้รับการคัดเลือกก็พร้อมที่จะทำงาน” รศ.สุภัทรากล่าว และว่า อย่างไรก็ตามกำลังพิจารณาจะฟ้องหมิ่นประมาทผู้ที่ให้ข้อมูลเท็จ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง คนกลุ่มนี้เวลาพบกัน ก็พูดดี ยกมือไหว้ แต่พอลับหลัง กลับทำแบบนี้ ซึ่งตนไม่เข้าใจ

ด้าน รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กันยายน 2561 สาเหตุที่ลาออก เพราะจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2561 และมีความต้องการต่ออายุราชการอีก 5 ปี เพื่อทำวิจัยและสอนหนังสือ ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กำหนดไม่ให้ผู้ที่ต่ออายุราชการรับตำแหน่งทางบริหาร ขณะที่ตนเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกเพียง 7 เดือนเท่านั้น หากครบกำหนดก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ เพราะเป็นอธิการบดีนิด้ามาแล้ว 2 วาระ

“ยืนยันว่าการลาออกของผมไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องให้อธิการบดีที่มีอายุ 60 ปีลาออกจากตำแหน่ง สาเหตุที่ลาออกเพราะอยากขอต่ออายุราชการเพื่อสอนหนังสือและทำวิจัย ทั้งนี้กรณีที่เรียกร้องให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีลาออกนั้น มองได้สองมุม คือ คนที่อายุ 60 ปี แต่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์สามารถทำงานได้ ก็ไม่น่าที่จะห้ามไม่ให้เข้ามาทำงานบริหารมหาวิทยาลัย เพราะในต่างประเทศ แม้จะอายุถึง 80 ปีแล้ว แต่หากมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ ก็ยังสามารถเป็นอธิการบดีได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ซึ่งหากอะไรเป็นปัญหา ก็อาจต้องแก้ให้มีความเหมาะสม” รศ.ดร.ประดิษฐ์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง กรรมการสภา มทร.พระนคร ในฐานะกรรมการสรรหาอธิการบดี มทร.พระนคร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการสรรหาอธิการบดี กลางที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีนั้น ล่าสุดวันที่ 26 กันยายน ผศ.ดร.สุรเชษฐได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีแล้ว ความว่า ตามที่สภา มทร.พระนครได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเพื่อดำเนินการสรรหาผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี ตามคำสั่งสภาที่ 23/2561 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 นั้น ตนไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีในการประชุมเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ที่พิจารณารับรองคุณสมบัติให้ผู้ที่เกษียณหรืออายุเกิน 60 ปีสามารถเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีได้ ซึ่งตนได้โต้แย้งในที่ประชุมด้วยแล้วว่าขัดกับหลักการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (คดี มรภ.กาญจนบุรี) ที่วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานชัดเจนแล้วว่าเมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี จะดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีไม่ได้ และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ประกาศนโยบายสอดคล้องกับหลักคำพิพากษาดังกล่าวไว้เช่นกันว่าจะไม่มีการเสนอผู้ที่อายุเกิน 60 ปีเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี และเน้นย้ำให้ทุกมหาวิทยาลัยเคารพในหลักการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการหาแนวทางดำเนินการกับมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ในเมื่อศาลตัดสินแล้วว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปี นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีพิจารณาและมีมติรับรองให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีทั้งที่ทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว จึงชี้ชัดให้เห็นว่าคณะกรรมการสรรหา ยืนยันว่าผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ยังมีสิทธิเป็นอธิการบดีได้ เท่ากับไม่เคารพหลักการคำตัดสินพิพากษาของศาล ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจเข้าข่ายร่วมกันประพฤติมิชอบเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 157

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า โดยหนังสือดังกล่าวได้รับการลงนาม “รับแล้ว” จากประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image