เครือข่ายอาจารย์เดินสาย ยื่นหนังสือจี้สภาถอดอธิการฯเกษียณ

กรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สภามหาวิทยาลัยรัฐ เฉพาะที่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการแก้ไขปัญหากรณีที่มีอธิการบดี/รักษาการอธิการบดีที่สภาแต่งตั้งอายุเกิน 60 ปี โดยขอให้ยึดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานที่ได้วินิจฉัยกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี ว่า อธิการบดี/รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ จะมีอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ศธ.ได้เรียกนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าให้ข้อมูลและสั่งการให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอภายใน 7 วันเพื่อจะช่วยหาทางออกนั้น

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย (สธม.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยนายวิริยะ ศิริชานนท์ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) และนายจิตเจริญ ศรขวัญ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทป.มรภ.) เดินทางเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อแสดงความขอบคุณที่ นพ.ธีระเกียรติ ให้ความสำคัญกับแนวทางคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอย่างถึงที่สุด โดยถือเป็นแนวปฏิบัติทางปกครองที่ดีเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการศธ.ยืนยันว่าในเมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วว่าไม่ได้ การแต่งตั้งอธิการบดีก็ต้องห้ามบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปี เพื่อเป็นไปตามบรรทัดฐานสากลทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เพื่อให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอธิการบดีเกษียณ เนื่องจากไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัยของรัฐฉบับต่างๆ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเหล่านี้ยังคงปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดกฎหมายทำความผิดต่อบรรทัดฐานทางการบริหารงานบุคคลที่ดี ที่ศาลตัดสินแล้วว่าไม่สามารถแต่งตั้งผู้เกษียณอายุมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้

ด้านนายจิตเจริญกล่าวว่า นอกจากยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ ก.พ.อ.แล้ว ตนยังได้เดินทางไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบอธิการบดีเกษียณในมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง กรณีการรับเงินสองทาง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มอธิการบดีเกษียณเหล่านี้ได้รับเงินบำนาญทุกเดือนจากภาษีประชาชนอยู่แล้ว แต่ยังอาศัยสถานะอธิการบดีออกระเบียบจ่ายเงินเดือนจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยที่ส่วนใหญ่เก็บมาจากค่าเทอมนักศึกษาที่ยากจน นำมาจ่ายเงินเดือนให้ตนเองสูงๆ หลักหลายแสนบาทเป็นก้อนที่สอง ถือเป็นการรับเงินสองเด้งซึ่งส่อผิดกฎหมายหรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาวิทยาลัยราชมงคลทั่วประเทศ ทยอยส่งหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยของตัวเองให้ถอดถอนอธิการบดีที่เกษียณฯแล้ว อาทิ กรรมการสภา มรภ.นครสวรรค์ ผู้แทนคณาจารย์และคณะ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ ยื่นหนังสือถึงนายกสภา มรภ.นครสวรรค์ ให้พิจารณาคุณสมบัติอธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปีที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณี มรภ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ นายธนวัฒน์ จอมประเสริฐ ประธานสภาคณาจารย์ฯ มรภ.อุตรดิตถ์ ได้ยื่นหนังสือให้สภามหาวิทยาลัยให้ทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของ นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี ซึ่งเป็นผู้ที่เกษียณแล้ว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรรมการสภา มรภ.บุรีรัมย์ จำนวนหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงนายกสภาให้ถอดถอนผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นอธิการบดี เนื่องจาก นางมาลิณี จุโฑปมา รักษาการอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ เกษียณอายุราชการมามากกว่า 6 ปีแล้ว ขณะที่มีรายงานว่า มรภ.ธนบุรี และ มรภ.เชียงใหม่ กลุ่มคณาจารย์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกสภาเพื่อให้ถอดถอนอธิการบดีที่มีคุณสมบัติ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ส่วน ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.กรุงเทพ ได้ยื่นหนังสือถึงสภา ให้ถอดถอนรองอธิการบดีที่เกษียณแล้วออกจากตำแหน่ง แต่อธิการบดีตอบหนังสือกลับมาว่า ไม่อาจดำเนินการตามที่ประธานสภาคณาจารย์ฯ เสนอเรื่องถึงสภามหาวิทยาลัยได้ จนกว่าจะมีการสั่งการจากกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image