ชี้มหา’ลัยต้องเปลี่ยนวิธีคิดรับวิกฤต เน้น ‘สหวิชา’ แทนมุ่งศาสตร์เฉพาะทาง

นายมนตรี ด่านไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยกำลังประสบกับภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์กันว่าวันหนึ่งต้องเจอ เพราะเราไม่ได้มองภาพรวมของประเทศ ที่ผ่านมาเรามองการเจริญเติบโตของบ้านเมือง มองการขยายตัวของประชากร กำลังคน และคิดแบบการขยายตัวของสังคมที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนสูงๆ จึงมุ่งผลิตบุคลากรระดับอุดมศึกษา แล้ววันหนึ่งเรามาถึงจุดที่เจอวิกฤต เนื่องจากไม่มีการวางกลไกระดับประเทศ มหาวิทยาลัย และผู้ที่คุมนโยบาย ไม่ได้มองสถานการณ์กำลังคนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สถาบันการศึกษาที่ผลิตครู รับนักศึกษาจำนวนมาก สถาบันการอาชีวศึกษาถูกยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นฐานการขยายตัวในการรองรับบุคลากรในขณะนั้น แต่เมื่อผ่านช่วงเวลาในขณะนั้นมา อัตราการเกิดลดลง จึงเกิดปัญหาขึ้น

“ที่่ผ่านมา เรามองแต่ข้างหน้า โตไป แล้ววิกฤตก็มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงไว ถ้าเราเรียนรู้แบบเก่า ศาสตร์เฉพาะทางเริ่มเปลี่ยน ผมเคยคุยกับอดีตปลัดทบวงฯ ว่าถ้าเรียนแบบเก่า ไม่เรียนรอบด้าน เรียนเฉพาะศาสตร์ใครศาสตร์มัน จะไม่ยืดหยุ่น วิธีคิด หรือมองเฉพาะมุมตัวเอง ทำให้ไม่ทันสมัย ไม่ทันโลก คณะต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนเป็นสหวิชามากขึ้น เพื่อสร้างคนที่ได้หลายๆ ศาสตร์ เพราะวันนี้จะอยู่กับวิธีคิดเก่าๆ ไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นคณะต่างๆ จะค่อยๆ หายไปอีกเยอะ” นายมนตรี กล่าว

นายมนตรีกล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลิตคน แต่มีปัญหาด้อยคุณภาพ เมื่อส่งต่อมหาวิทยาลัย ก็ต้องติวเด็กใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาสั่งสม ดังนั้น ผู้ที่บริหารด้านการศึกษา จึงต้องมองภาพรวมของประเทศเป็นหนึ่งเดียว ก็อาจมีมุมแก้ปัญหาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อตนพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ รัฐบาลในช่วงนั้นมีนโยบายรวมหน่วยงานด้านการศึกษา โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้การบริหารงานทำได้ดี และแก้ปัญหากำลังคนของประเทศได้ แต่เมื่อรวมแล้วกลับแก้ปัญหาไม่ได้ และขณะนี้กำลังจะแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาเพื่อตั้งเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“ผมมองว่าถ้าใครเป็นรัฐมนตรี และเห็นวิสัยทัศน์ ก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ที่ผ่านมา รัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งแค่แพร๊พๆ แล้วเปลี่ยน ทำให้ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง” นายมนตรี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image