โดรนหว่านเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติ สะดวก-ประหยัด-เพิ่มประสิทธิภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้สาธิตผลงานวิจัย “เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ” ที่แปลงสาธิต ฟาร์ม มทส.เป็นของ ผศ.รังสรรค์ ทองทา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ นายปัญญา หันตุลา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มทส.

ผศ.รังสรรค์ กล่าวถึงไอเดียในการประดิษฐ์ว่า ศึกษา และออกแบบเป็นเครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบอัตโนมัติ ใช้เวลา 4 เดือน แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ศึกษาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือโดรน ที่บินตามเส้นทางที่กำหนดได้โดยอัตโนมัติ พร้อมพัฒนาอุปกรณ์สำหรับโปรยเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อติดตั้งบนโดรน ใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อเครื่อง ซึ่งราคาเทียบเท่าโดรนทางการเกษตรที่ใช้อยู่ทั่วไป

ตัวเครื่องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ตัวโดรน สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้แข็งแรง และน้ำหนักเบา สำหรับโดรนที่ใช้ในงานวิจัย เป็นโดรนแบบหลายใบพัด หรือ Multirotor UAVs และ 2.อุปกรณ์โปรยเมล็ดพันธุ์ โดยโครงสร้างของเครื่องทำจากพลาสติก ทำให้น้ำหนักเบา แต่แข็งแรงทนทาน เมล็ดพันธุ์จะถูกบรรจุในกระบะบรรจุเมล็ดพันธุ์ที่ด้านบนของอุปกรณ์โปรยเมล็ดพันธุ์

Advertisement

โดรนหว่านเมล็ดพันธุ์ต้นแบบมีความกว้าง 1.2 เมตร สูงจากพื้นดิน 1 เมตร บรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 20 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักตัวโดรน) หว่านเมล็ดพันธุ์ได้หลากหลายชนิด บรรจุเมล็ดพันธุ์ได้ครั้งละ 5 กิโลกรัม ระยะเวลาบินต่อเนื่อง 15 นาที ความเร็วในการบินที่เหมาะสมคือ 1-2 เมตร/วินาที ความสูง 2-3 เมตร การโปรยเมล็ดพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 25-30 นาทีต่อพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-6 กิโลกรัม

นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ประหยัดเวลา และแรงงาน สอดรับนโยบายเกษตร 4.0 ของประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image