‘หมอธี’มอบ’บุญรักษ์’ศึกษาผลดี-เสีย หาก ร.ร.เตรียมอุดม สอบรับนักเรียนปี’62เป็นที่แรก

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณี ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีความเห็นชอบหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2562 โดยมีสาระสำคัญคือ หารือถึงความเป็นไปได้ในการขยับช่วงเวลาการรับนักเรียนจากที่แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคม ให้เสร็จภายในเดือนมกราคม เพื่อให้ผู้ปกครองที่ลูกหลานยังไม่ที่เรียนมีโอกาสเตรียมความพร้อมหาที่เรียนให้ลูกมากขึ้น ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนพฤษภาคม และเห็นชอบ ให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นำร่องดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.4 ก่อนโรงเรียนทั่วไป เนื่องจากอยากให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั้ง 282 แห่ง สามารถจัดสอบได้ก่อน เพราะเด็กอยากเข้าเป็นจำนวนมาก ว่า ตนเพิ่งจะได้อ่านรายงานจึงยังไม่รู้รายละเอียดมากเท่าไหร่ เบื้องต้น ทราบว่าเกณฑ์การรับนักเรียนปี 2562 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก จึงเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ส่วนเรื่องให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จัดสอบนักเรียนก่อนนั้น ตนยังไม่เห็นผลดีผลเสียอะไร ฟังดูแล้วไม่มีข้อเสียเพราะนักเรียนสามารถมีโอกาสเข้าลองสนามสอบก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดสอบก่อนเป็นที่แรก อาจจะทำให้โรงเรียนได้รับเงินค่าสมัครสอบมากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง มีนักเรียนอยากเข้ามาก นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นปัญหาเนื่องจากหลักเกณฑ์นี้ยังไม่เริ่มดำเนินการ จึงยังไม่รู้ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร แต่จะมอบหมายให้ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ไปศึกษาผลดีผลเสียมาให้ตนเพิ่มเติม

นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การขยับช่วงเวลาการรับนักเรียนจากเดิมที่แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคม ให้เสร็จภายในเดือนมกราคม เพื่อให้ผู้ปกครองหาที่เรียนให้นักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนพฤษภาคมนั้น มีข้อเสียคือจะกระทบตารางจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน หากเลื่อนเวลารับนักเรียนเร็วขึ้นต้องวางแผนจัดการระบบให้ดี

“ส่วนการให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จัดสอบก่อน มองว่าไม่มีข้อเสีย และมีข้อดีคือเด็กสามารถทดลองเข้าสอบก่อน หากเด็กพลาดจะมีโอกาสหาที่เรียนในโรงเรียนอื่นได้ โรงเรียนสามารถคัดช้างเผือกเข้าเรียน เพื่อพัฒนาให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ส่วนเรื่องเงินที่โรงเรียนได้จากค่าสมัครสอบนั้น มองว่าไม่น่าเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากเงินที่ได้จากการสมัครสอบเหล่านี้เป็นค่าจัดการสอบ และมองว่า สพฐ.ไม่เอื้อประโยชน์ให้โรงเรียนแต่อย่างใด แต่ต้องกำหนดเกณฑ์กลาง คุณสมบัติผู้สมัครสอบให้ดี เช่น คะแนนเฉลี่ยต้องเท่าไหร่จะสามารถเข้าสมัครสอบได้ เป็นต้น นักเรียนที่คะแนนไม่ถึงจะได้ไม่เสียเวลาไปสมัครสอบ” นายภาวิช กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image