‘บุญรักษ์’ เผย สพป.พะเยา เขต 1 แจงตั้ง กก.สอบ ‘ผอ.บ้านดง-ครู’ กราวรูด เหตุปล่อย ม.2 ทำร้าย ป.4

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีมีการเผยแพร่คลิปที่กลุ่มรุ่มพี่ชั้น ม.2 รุมทำร้ายรุ่นน้องชั้นป.4 เกิดขึ้นภายในโรงเรียนบ้านดง ต.ดงสุวรรณ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา โดยที่ถูกแกล้ง อยู่ในลักษณะถูกรุ่นพี่ทั้งหญิงและชายรุมดึงผม พูดแซวและข่มขู่ โดยในคลิปเด็กรุ่นพี่เข้ามารุมข่มขู่พร้อมปิดปากเด็กกลั้นเสียงสะอื้น อีกทั้งเด็กถูกรุ่นพี่ใช้เท้าถีบจนหงายหลัง ล่าสุดนายประถม เชื้อหมอ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พะเยา เขต 1 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น ว่า ตนคิดว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรปรับวิธีการคิดการจัดการปัญหา ให้กับโรงเรียนใหม่ เพราะที่ทำไปอาจไม่เหมาะสม อย่างเช่นการทำทัณฑ์บน นั้นเพียงพอหรือไม่ ควรจะเปลี่ยเป็นพักการเรียนหรือไม่ เป็นต้น อีกทั้งตนมองว่านักเรียนที่ถูกทำร้ายและนักเรียนผู้กระทำ ต้องได้รับการช่วยเหลือ และเยียวยา เช่น นักเรียนผู้กระทำ สพฐ.ต้องศึกษาภูมิหลังของนักเรียนว่าเหตุใดถึงออกมากระทำเรื่องนี้ ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างถูกวิธี หากนักเรียนผู้กระทำคงไว้พฤติกรรมลักษณะนี้อาจจะเป็นภัยระยะยาวต่อตัวนักเรียนเอง อย่างไรก็ตามทุกพฤติกรรมมีสาเหตุ มีเบื้องหลังเสมอ ต้องดูว่า สพฐ. และสังคมจะสามารถช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้อย่างไร

นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสพป. พะเยา เขต1 ว่าได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว โดยจะตรวจสอบว่าเรื่องราวเกิดขึ้นได้อย่างไร ความรับผิดชอบอยู่ที่ส่วนไหน เป็นความประมาทเลินเล่อ หรือบกพร้องต่อหน้าที่ของ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู หรือไม่ หรือเป็นความผิดพลาดของระบบที่ยังคุ้มครองนักเรียนไม่ครอบคลุมพอ โรงเรียนได้มีหลักเกณฑ์ มาตรการป้องกัน และผู้อำนวยการ ครูได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้หรือไม่ ต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกันก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวน

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องวัวหายแล้วล้อมคอก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รวมทั้งผู้ใหญ่หลายคน ให้แนวทาง และมอบนโยบายในการจัดการ วางมาตรการ หลักเกณฑ์ป้องกันการรังแกกันภายในโรงเรียน ซึ่งสพฐ.กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ เนื่องจากต้องดูแลเด็กกว่า 10 ล้านคน ครูที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลนักเรียน อาจจะไม่กระจายเพียงพอ ปัญหาของสพฐ. คือจะทำอย่างไรให้กลไกที่มีอยู่ให้สามารถป้องกันปัญหาและดูแลเด็กทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและครอบคลุม ต้องจัดทำแนวปฏิบัติทุกเรื่องให้ชัดเจนว่า หากเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นเด็กและครูต้องจัดการอย่างไร เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ ที่ประชาชนนำลูกหลานมาเรียน และไว้วางใจให้ดูแล ฉะนั้นแล้วนักเรียนทุกคนถือเป็นลูกของครู หากมีอะไรผิดพลาด เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเด็กจะต้องเป็นความรับผิดชอบของโรงเรียนโดยตรง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นการต่อรองระหว่างผู้ปกครองทั้งสองฝ่าย” นายบุญรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image