นักศึกษา สจล. เจ๋งคว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ในงานไอเอสทีเอส 2018

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในยุคดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดำเนินธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เรียกว่า “เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพลิกโฉมระบบการดำเนินงานตลอดจนรูปแบบการให้บริการขององค์กรธุรกิจ เพื่อให้เท่าทันการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ สจล. จึงเห็นถึงความสำคัญในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีความพร้อม ทั้งในด้านองค์ความรู้วิชาการและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นสร้างโอกาสการแข่งขันและการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติได้ในอนาคต

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สจล. ได้เร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควบคู่ไปกับการเปิดหลักสูตรใหม่ให้สอดรับสถานการณ์และความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (สหวิทยาการ) วิศวกรรมระบบการผลิตขั้นสูง (นานาชาติ) และนวัตกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นต้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างกัน

“โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านเทคโนโลยีประเทศญี่ปุ่น (NIT หรือ KOSEN) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะงะโอะกะ (NUT) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ (TUT) จัดการแข่งขันประกวดนวัตกรรมเพื่อธุรกิจระดับนักศึกษาขึ้นผ่าน “โครงการการจัดการประชุมนานาชาติ  หรือ ไอเอสทีเอส 2018  (ISTS – International Seminar on Technology for Sustainability 2018)” ร่วมด้วย 5 องค์กร ร่วมให้โจทย์ปัญหาทางธุรกิจแก่ผู้เข้าแข่งขัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลกร่วมคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ มุ่งเน้น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ Smart Home & Smart City, Drone, Financial, Artificial Intelligence, Virtual Reality/Augmented Reality  ที่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังช่วยให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลท์สำคัญคือการแข่งขันแก้ปัญหาในสถานการณ์เสมือนการทำงานจริง ผู้แข่งขันต้องร่วมกันวางแผนการจัดการเวลา การทำงานกับเพื่อนร่วมทีมต่างชาติ เพื่อแก้โจทย์ที่ได้มาจากภาคเอกชน ในรูปแบบแฮ็คคาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นการบูรณาการกิจกรรมแฮคกิ้ง (Hacking) และการประชุมเชิงปฏิบัติการทางเทคนิค (Technical workshops) แบบมาราธอน 7 วัน ภายใต้ธีม “Innovation Hackdiator: Solution for Sustainability Challenge” โดยมีนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 30 ทีม จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่ละทีมจะได้รับโจทย์ปัญหาทางธุรกิจจาก 5 องค์กรธุรกิจ ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย 1. นวัตกรรมเพื่อธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ 2. ระบบแสดงผลข้อมูลสำหรับสิ่งแวดล้อม 3. แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ้านอัจฉริยะ 4. เทคโนโลยีที่ทำให้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป และ 5. โดรนเพื่อการบริหารจัดการแวร์เฮาส์

“ทั้งนี้ สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ชนะเลิศได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีมลมพระยากลุ่ม 2 ผลงานออกแบบโมบายแอปพลิเคชันส่งเสริมการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวจบภายในแอพพลิเคชั่นเดียว ตั้งแต่การจองตั๋วจนถึงจบการเดินทาง ซึ่งทีมนี้มีสมาชิกเป็นนักศึกษาของ สจล. 2 คน คือ น.ส.พรรษชล ฉัตรอุทัย สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมและเทคโนโลยีนานาชาติ และน.ส.พัชรธัญ สุทธิชาติ จากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมทีมอยู่ด้วย”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image