โค้งสุดท้าย‘กอปศ.’เร่งทำกฎหมายปฏิรูปการศึกษา

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ความคาดหวังในการปฏิรูปการศึกษาของเครือข่ายสถานประกอบการ โดยมี ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสถานประกอบการ ผู้แทนสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย ตลอดจนผู้แทนสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ. ) ประมาณ 150 เข้าร่วมโดยนพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกอปศ. กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การทำงาน 17 เดือนที่ผ่านมา มีเป้าหมายปฏิรูปการศึกษาครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีธรรมาภิบาล ซึ่งนำมาสู่การยกร่างกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .. และร่าง พ.ร.บ.การพัฒนา เด็กปฐมวัย พ.ศ. …อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ..และร่าง พ.ร.บ.กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. …ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. อยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา รวมถึงร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. …อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม 7 เดือนหลังจากนี้กอปศ.จะเร่งทำกฎหมายที่เหลือและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จต่อไป

“ผมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบ และได้ย้ำว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าไม่ทำ ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ คำตอบที่สำคัญคือ ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกัน เรามาถึงจุดที่โลกเปลี่ยนแปลงไป การศึกษามุ่งเน้นการสร้างสมรรถนะรองรับประเทศไทย 4.0 ต้องเปลี่ยนแปลงทางความรู้ทั้งการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21และทักษะด้านดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การสร้างอนาคตประเทศ “นพ.จรัส กล่าว

นายวีรวัฒน์ วรรณศิริ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการศึกษา เพิ่มพูนการเรียนรู้และต่อยอดความคิดและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เห็นด้วยกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือกระทรวงสะเต็ม และมีความเชื่อมั่นว่าคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในระบบแรงงาน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพทักษะของผู้ใช้แรงงาน ความเสี่ยงคือการใช้คนที่มีแนวโน้มน้อยลง เพราะการแข่งขันทางธุรกิจสูงมาก ภาคผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดต้นทุนและผลิตผลงานออกมาให้ได้มากที่สุด จึงมีแนวโน้มใช้หุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาทดแทนกำลังคน อย่างไรก็ตาม หากเลือกใช้คนทำงานก็ต้องเลือกทรัพยากรที่มีคุณภาพสูงที่สุด ดังนั้น ผลผลิตของทรัพยากรมนุษย์ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาคือ มหาวิทยาลัยต้องผลิตกำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะการทำงานคุณภาพสูงเช่นกัน ไม่ได้เรียนรู้เพื่อก้าวตามแต่ต้องสร้างมันสมองที่คิดนอกกรอบ นอกจากนี้ ยังต้องการกำลังคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย

น.ส.ดารากร  พิพัฒนกุล ผู้อำนวยการ ผู้บริหารสาย Future Leader Development SCB Academy กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาต่าง ๆ ควรปรับปรุงเพื่อสร้างความสอดคล้องกับการเรียนรู้เพื่อทำงานมีอาชีพ เมื่อรู้แล้วต้องนำไปใช้ได้ และปรับเปลี่ยนแนวคิดในการเรียนรู้ให้รู้จักความผิดพลาด กล้าตัดสินใจ รองรับการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลานำไปสู่การใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือกับภาคการศึกษาในการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษา

Advertisement

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ตนเอง มีข้อเสนอ 6 ประการ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมการทำงานในอนาคต คือ 1.ปฏิรูปการศึกษาโดยเริ่มต้นในห้องเรียน ไม่ใช่ปรับโครงสร้างศธ. แต่ต้องเริ่มจากตัวเด็ก 2.สร้างความโปร่งใสและความทัดเทียมในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษาและองค์ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล สร้างฐานข้อมูลอาชีพและเส้นทางความก้าวหน้าในการทำงานให้สามารถตรวจสอบและใช้ข้อมูลตัดสินใจได้3. สร้างกลไกการตลาด ในการเลือกอาชีพของเด็ก เพื่อสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพในอนาคต สร้างความเชื่อมโยงการสร้างสมรรถนะและทักษะของผู้เรียนตั้งแต่เด็ก 4.การให้ทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนที่มีความสามารถ และส่งเสริมการพัฒนาในทุกด้าน 5.การบริหารจัดการหน่วยงานด้านการศึกษาที่ใช้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างบรรทัดฐานบุคลากรด้านการศึกษาของภาครัฐและ 6.สร้างองค์ความรู้และทักษะการใช้สื่อดิจิทัลให้แก่เด็ก รู้จักการใช้สื่อดิจิทัล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image