‘โรงเรียนร่วมพัฒนา’ สะท้อนปัญหา ‘โรงเรียนทั่วไป’

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) เป็นรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการ มีความแตกต่างจากโรงเรียนประชารัฐ เพราะนอกจากภาคเอกชนจะสนับสนุนการจัดการศึกษาแล้ว ยังจะเข้าร่วมบริหารจัดการโรงเรียนร่วมกับภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการในระยะแรกถึง 40 โรง

การบริหารงานโรงเรียนร่วมพัฒนาจะ อยู่ภายใต้การดูแลของผู้มีส่วนร่วมต่างๆ อาทิ ภาคเอกชน ผู้นำระดับท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ กำหนดคุณสมบัติผู้อำนวยการหรือผู้บริหารโรงเรียนไว้ว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่อง 4 ปี มีการจัดตั้งหน่วยประสานงานกลางมาดูแลโดยตรง มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน โดยไม่ผ่านศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) หรือเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้การทำงานและการแก้ไขปัญหารวดเร็วขึ้น

โรงเรียนร่วมพัฒนาคงเริ่มจากการที่ให้เอกชนเข้ามาสนับสนุนงบประมาณการจัดการศึกษาในโครงการโรงเรียนประชารัฐ ก่อนพิจารณาแนวทางการดำเนินการของโรงเรียนร่วมพัฒนาเปรียบเทียบกับโรงเรียนทั่วไปแล้วพบประเด็นสำคัญบางประการที่น่าสนใจ อาทิ การบริหารงาน คุณสมบัติผู้อำนวยการ และหน่วยประสานงานกลาง

เรื่องแรก การบริหารงาน ถ้าไม่นับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย โรงเรียนร่วมพัฒนาแทบไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก่อให้เกิดการบริหารงานโรงเรียนในรูปคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องคล้ายกันนี้ ได้แก่ ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ พระภิกษุสงฆ์ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ครู ฯลฯ ไม่ว่าโรงเรียนจะทำอะไร วางแผนปฏิบัติงาน จัดสรรงบประมาณ จัดทำหรือพัฒนาหลักสูตร รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ล้วนต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดนี้

Advertisement

แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการสถานศึกษาไม่สามารถแสดงบทบาทได้อย่างแท้จริง การพิจารณาเรื่องราวของโรงเรียนยังเป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย เหตุเพราะตัวบุคคลในคณะกรรมการมักได้มาจากการชี้นำของผู้บริหาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ การบริหารงานโรงเรียนตัวจริงเสียงจริงจึงยังเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่เช่นเดิม แทบไม่ต่างจากก่อนมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

หลักคิดที่จะให้โรงเรียนถูกบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งมาจากผู้มีส่วนได้เสีย ประโยชน์ชัดเจนอยู่ในตัวเอง หลายคนคิดย่อมดีกว่าคิดคนเดียว หากการดำเนินงานของโรงเรียนผิดพลาดล้มเหลวผลกระทบใหญ่หลวงจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทุกๆ คนในชุมชน ให้คิดให้ทำอยู่คนเดียวจึงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สนุกๆ ที่จะเสี่ยง

ในโรงเรียนร่วมพัฒนา ศธ.น่าจะรู้และวางแผนรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้มาเป็นอย่างดี เพราะเจ้าของเงินหรือผู้สนับสนุนงบประมาณจะร่วมบริหารโรงเรียนเองร่วมกับภาคประชาสังคมท้องถิ่นอีกแรงหนึ่ง

Advertisement

เรื่องที่สอง คุณสมบัติผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้บริหาร กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง 4 ปี ปัญหาการทำงานอย่างหนึ่งของผู้บริหารโรงเรียนทั่วไปในปัจจุบัน ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือกลาง การย้ายเป็นการมาเพื่อไปต่อ หมายถึงมาอยู่เพื่อรอขยับไปโรงเรียนใหญ่ขึ้น อำนาจบารมีหรือผลประโยชน์สูงขึ้น ถ้าถึงขั้นโรงเรียนใหญ่สุด อาจเพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรีในชีวิตราชการ หรือเพื่อรอวันเกษียณอันสวยงาม ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ปรมาจารย์ด้านการศึกษาอีกคนหนึ่งของบ้านเราเคยแนะในกรณีนี้ การทำงานทุกตำแหน่งแห่งหน ต้องคิดว่าเป็นเก้าอี้ตัวสุดท้าย ความมุ่งมั่นอย่างเต็มกำลังความสามารถจึงจะเกิด

ความไม่ทุ่มเทจากการมาอยู่เพื่อไปต่อ อาจสร้างความเสียหายให้กับโรงเรียนนานัปการ อาทิ ไม่สนใจระบบงาน ความต่อเนื่อง เข้มแข็ง หรือผลที่จะเกิดในระยะยาว มุ่งเพียงผลระยะสั้น เฉพาะหน้าเฉพาะกิจ ทำเพื่อให้มี เน้นแค่เปลือก แค่ให้เข้าตาผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษ โรงเรียนจึงอ่อนแอลงทั้งที่อายุมากขึ้น ตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น “อายุโรงเรียนยิ่งมาก ระบบงานยิ่งน่าจะเข้มแข็ง ด้วยวัยและประสบการณ์ที่สั่งสม”

ยิ่งไปกว่านั้นการย้ายเพื่อไปต่อ ถ้าได้ย้ายเพราะผลงานที่โรงเรียนเดิมดี ทุกคนคงเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติงาน โรงเรียนก็น่าจะพัฒนาขึ้นเรื่อยตามวันเวลา แต่ที่เห็นนั้นมักมาจากเหตุผลอื่น จึงเน้นทำเหตุผลอื่นกัน แทนที่จะเป็นความยั่งยืนของโรงเรียนหรือความสำเร็จของบุตรหลาน

กติกาการย้ายผู้บริหารล่าสุด กำหนดต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 2 ปี (เกินปีครึ่งปัดเศษ) ขณะโรงเรียนร่วมพัฒนา เพื่อความต่อเนื่อง กำหนดไว้ถึงสองเท่าหรือ 4 ปี จึงพอสมมุติฐานได้ว่า ศธ.ก็คงรู้ซึ้งถึงปัญหานี้

เรื่องสุดท้าย หน่วยประสานงานกลาง จากที่กำหนดให้เลขาธิการ กพฐ.เป็นประธานในการดูแลโรงเรียนร่วมพัฒนา แทนที่จะเป็น ศธจ.หรือเขตพื้นที่การศึกษา ดังโรงเรียนทั่วๆ ไป ชวนให้คิดได้ว่า ศธ.น่าจะตระหนักถึงอุปสรรคจากสายการบริหารที่ยืดยาวเยิ่นเย้อบ้างเหมือนกัน จาก ศธ.กว่าจะมาถึงโรงเรียน อันที่จริงก็มีที่มาจากการปฏิรูปแบบย้อนยุคของตัวเอง ด้วยการนำศึกษาธิการเขตหรือศึกษาธิการจังหวัดในสมัยโน้นกลับมาใช้ใหม่ โดยยังคงเขตพื้นที่การศึกษาไว้ จนเห็นริ้วรอยความไม่ลงตัวต่างๆ เกิดศึกแย่งชิงอำนาจในฝ่ายบริหารมาจนวันนี้ อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของ ศธ.ด้วย ที่ให้เลขาธิการ กพฐ.ดูแลโรงเรียนร่วมพัฒนาโดยตรง

แนวดำเนินการโรงเรียนร่วมพัฒนา จึงเป็นเงาสะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาของระบบบริหารจัดการโรงเรียนทั่วไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งเป็นฝันที่ยังไม่เป็นจริง กำหนดเวลาของผู้บริหารในแต่ละโรงทำให้เกิดความฉาบฉวย ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งสายการบริหารงานที่เหยียดยาวขึ้นกว่าจะถึงโรงเรียน ทั้งที่ควรสั้นกระชับ

ทางออกเรื่องนี้ง่ายมาก ถ้าเข้าใจและตระหนัก ศธ.ควรนำแนวทางของโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะประเด็นการบริหารงานตามที่กล่าวมาไปปรับหรือประยุกต์ใช้กับโรงเรียนทั่วไปทั้งหมดทุกๆ โรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image