เล็งชงร่าง พ.ร.บ.เด็กปฐมวัยเข้า สนช.รอง ปธ.กอปศ.ชี้ช่วยลดเหลื่อมล้ำ-เพิ่มคุณภาพเด็กไทย

ดารณี อุทัยรัตนกิจ

น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และรองประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. … ตามที่ กอปศ.เสนอ มีสาระสำคัญดังนี้ โครงสร้างการบริหาร กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งยังกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการ ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

น.ส.ดารณีกล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา 2.ช่วงแรกเกิด ถึงก่อน 3 ปีบริบูรณ์ หรือช่วงวัยเด็กเล็ก 3.ช่วงอายุ 3 ปีบริบูรณ์ ถึงก่อน 6 ปีบริบูรณ์ หรือช่วงเด็กก่อนวัยเรียน หรือช่วงวัยอนุบาล และ 4.ช่วง 6 ปีบริบูรณ์ ถึงก่อน 8 ปีบริบูรณ์ หรือช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับชั้น ป.1-ป.2 การกำหนดอายุถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เพราะเด็กแต่ละช่วงอายุมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ต้องได้รับการดูแลที่ต่างกันด้วย

น.ส.ดารณีกล่าวต่อว่า ใน พ.ร.บ.ยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่ และอำนาจจัดให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้ง ให้มีหน้าที่ และอำนาจจัดให้มีสวัสดิการแก่หญิงมีครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม และกำหนดหน้าที่ให้รัฐ และ อปท.จัดให้มีบริการและสวัสดิการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านสังคมอย่างมีคุณภาพ ให้แก่หญิงมีครรภ์ และบุคคลในครอบครัวของเด็กอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ในอดีตทำงานในรูปแบบต่างคนทำ ต่อไปจะบรูณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง

“นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้เรื่องการรับเด็กเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ห้ามการสอบคัดเลือกเด็กเข้าเรียน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท เชื่อว่าถ้า พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีผลบังคับใช้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะงานวิจัยทั่วโลกต่างยืนยันว่า การลงทุนกับเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ เด็กจะได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้อง มีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ อปท.และหน่วยงานอื่น เข้ามามีความร่วมในการส่งเสริม พัฒนาเด็ก สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเด็กจะได้รับการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม มีทักษะการเรียนรู้ที่ดีติดตัวไป พร้อมที่จะเรียนในระดับประถม มัธยม อย่างมีคุณภาพ เพราะถ้าในอนาคตไม่มีการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ และถูกวิธี เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จะพัฒนาประเทศอย่างไร ถือเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมได้รับรู้ ว่าการลงทุนดูแลเด็กถือเป็นการสร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” น.ส.ดารณี กล่าว

Advertisement

น.ส.ดารณีกล่าวอีกว่า จากนี้คณะกรรรมการกฤษฎีกาจะตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image