‘สพฐ.’ ปรับระบบนิเทศติดตามงาน เน้นลดความซ้ำซ้อน-ไม่เป็นภาระโรงเรียน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะปรับปรุงระบบการนิเทศติดตามใหม่ โดยเน้นการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มภาค 6 ภาค ตามยุทธศาสตร์การบริหารของรัฐบาล ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ซึ่งจากนี้ สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการนิเทศ 6 ชุด ประจำภาคละ 4 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ศึกษานิเทศก์ของ 2 คน แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา

นายบุญรักษ์กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการทำงาน กรณีการนิเทศติดตาม โดยส่วนกลางที่ลงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา จะให้นำโครงการ/แผนงาน ตามนโยบายมาเสนอที่เขตพื้นที่ฯ ส่วนการนิเทศของเขตพื้นที่ฯ ให้กำหนดตามพื้นที่ซึ่งแต่ละคนก็จะมีโครงการ/โครงงาน ที่รับผิดชอบต่างกัน ในส่วนงบประมาณจะรวมไว้ก้อนเดียว และจัดสรรไปตามภารกิจและความรับผิดชอบ โดยแนวทางการจัดสรร จะคำนึงถึงสัดส่วนโรงเรียน เช่น ระดับภาค มีกี่จังหวัด มีกี่เขตพื้นที่ฯ ส่วนระดับเขตพื้นที่ฯ จะดูสัดส่วนโรงเรียนมีเท่าไหร่ มีกี่โครงการ ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริงมีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็ส่งงบก้อนหนึ่งลงไปให้วางแผนบริหารจัดการ

“สาเหตุที่ต้องปรับรูปแบบกันใหม่เพื่อลดความซ้ำซ้อน ซึ่งในทุกโครงการจะมีการตั้งงบนิเทศติดตามและต้องลงพื้นที่รายโรง จนกลายเป็นสร้างภาระให้แก่โรงเรียน ที่สำคัญโครงการมีจำนวนมาก บางครั้งลงไปดูได้ไม่ทั่วถึง หรือบางโครงการที่สำคัญก็ไม่มีงบเพื่อการนิเทศก็มี เพราะฉะนั้น จึงมาวางแนวทางใหม่เน้นการบูรณาการร่วมกัน งบจะได้นำมากระจายได้ทั่วถึง” นายบุญรักษ์กล่าว

นายบุญรักษ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สพฐ.มีศึกษานิเทศก์จำนวน 2,000 คน ในการนิเทศติดตาม 30,000 โรงเรียน ถือว่าเพียงพอกับภาระงาน อีกทั้งโครงการในปัจจุบันก็ไม่มาก เพราะ สพฐ.พยายามลดโครงการลง อย่างไรก็ตาม ในแต่ละพื้นที่ควรใช้งบเท่าไหร่นั้น ได้มอบให้คณะทำงานไปศึกษา รายละเอียดว่าปัจจุบันโครงการที่ต้องนิเทศมีกี่โครงการ งบประมาณเท่าไหร่ ความสำคัญของงาน สำคัญการลงพื้นที่ต้องไม่สร้างภาระแก่โรงเรียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image