เปิดผลดีเอ็นเอ ชี้ ‘คนไทย’ อพยพจากจีนตอนใต้ ไม่ได้มาจากอัลไต มอญ-เขมร ‘คนเก่าแก่’ ในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมริมน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาวิชาการ ‘นานาสาระ จิปาถะความรู้’ เนื่องในการแสดงมุทิตาจิตในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนึ่งในหัวข้อเสวนาทีได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ‘มนุษย์โบราณในเอเชียอาคเนย์และเรื่องถิ่นกำเนิดคนไทย’ ซึ่ง หนึ่งในวิทยากรคือ ศ.ดร.เสมอชัย ได้นำเสนอข้อมูลและผลการศึกษาดีเอ็นเอโดยใช้ตัวอย่างจากโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ทางภาคอีสานของไทย ศึกษาเปรียบเทียบกับคนพูดภาษาตระกูลไททางตอนใต้ของประเทศจีน, คนไทยในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงคนที่อยู่อาศัยในแถบเทือกเขาอัลไต พบว่า คนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต แต่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากตอนใต้ของจีน มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรรมใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับคนภาคใต้ของจีนหลายกลุ่ม รวมถึงชาวจ้วง ซึ่งพูดภาษาตระกูลไต ปัจจุบันยังอาศัยในมณฑลกวางสี

สำหรับคนไทยปัจจุบันกับมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ศ.ดร.เสมอชัย ระบุว่า มนุษย์ในโลกนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะมีดีเอ็นเอเหมือนกันมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบความสัมพันธ์แล้ว พบว่าคนไทยปัจจุบันแทนที่จะใกล้ชิดในทางพันธุกรรมกับคนก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ซึ่งอยู่อาศัยมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน กลับใกล้ชิดกับคนพื้นเมืองทางตอนใต้ของจีน ซึ่งยังอยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวในทุกวันนี้

“เรานำโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน อายุ 2-3 พันปีมาสกัดดีเอ็นเอโบราณสำเร็จเป็นครั้งแรกของภูมิภาคในตอนนั้น โดยพื้นที่ศึกษาคือลุ่มน้ำมูล เลือก 26 ตัวอย่างจาก 100 กว่าตัวอย่างมาสกัด

Advertisement

รูปแบบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมสนับสนุนว่าบรรพบุรุษคนไทยในปัจจุบัน น่าจะมาจากทางภาคใต้ของจีนในระยะเวลา ไม่สู้ช้านานมาก นั่นคือระยะเวลาภายหลังจากที่ภูมิภาคนี้มีคนอาศัยอยู่เต็มไปหมดแล้ว เป็นประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นี่เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามา

คนไทยปัจจุบันต่างกลุ่มมีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างน้อย โดย genetic ของคนไทย ดู homogeneous (เหมือนกัน) พอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับคนเก่าแก่ของภูมิภาคอย่างกลุ่มคนพูดภาษาออสโตรเอเชียติก อย่างกลุ่มมอญ-เขมร ซึ่งฟ้องว่าบรรพบุรุษคนไทยเข้ามาอยู่อาศัยในภูมิภาค มีการแตกตัวเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ ภายหลังจากพวกคนพื้นเมืองเก่าแก่ คือ พวกที่พูดภาษามอญ เขมร

สำหรับคำว่า ไม่สู้ช้านานมาก ไม่สามารถระบุเวลาได้ ดีเอ็นเอไม่ได้เป็นเครื่องมือตรวจสอบในกรณีนี้  ในกรณีอื่นๆอาจพอมีกรณีอนุมาน แต่กรณีนี้เพียงแต่เปรียบเทียบรูปแบบว่า มอญ เขมร เป็นพวกที่อยู่มาก่อน และมอญ เขมร บางกลุ่มมีความสัมพันธ์ทาง genetic กับคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงสนับสนุนว่าคนก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ อยู่อาศัยในพื้นที่แล้วส่วนหนึ่ง กลายเป็นคนมอญ เขมรในปัจจุบัน คนก่อนประวัติศาสตร์ก็ดี คนมอญ เขมร ในปัจจุบันก็ดี มีความห่างกันพอสมควรกับคนไทย คนไทยกับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนพื้นเมืองทางใต้ของจีน รวมทั้งพวกจ้วงด้วย ด้วยรูปแบบของความสัมพันธ์นี้ ทำให้อยากกลับไปสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า บรรพบุรุษ คนไทยในปัจจุบันน่าจะเป็นพวกที่อพยพลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีน”

Advertisement

ศ.ดร. เสมอชัย ยังกล่าวว่า ปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทย ถูกตั้งคำถามมาราว 100 ปีแล้ว และมีการเริ่มต้นศึกษาในทางภาษาศาสตร์โดยนักวิชาการตะวันตก

“ภาษาไทยที่พูดอยู่ โดยภาพกว้างมีญาติทางภาษากระจายกว้างขวางมาก การกระจายตัวของภาษาตระกูลไทย จากตะวันตกสุดไปถึงอัสสัม ในอินเดียต่อเนื่องถึงตอนเหนือของพม่า ไปมณฑลยูนนานในประเทศจีน จนถึงกวางสี กุ้ยโจว หูหนาน กวางตุ้ง ภาษาเมื่อกระจายกว้างขวางก็มีความหลากหลาย ข้อสังเกตคือภาษาตระกูลไทที่พูดในเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในไทยมีความหลากหลายค่อนข้างต่ำ เราสื่อสารกันได้ดีพอสมควร ในขณะที่บางบริเวณ เช่น ภาคใต้ของจีน มีความหลากหลายกว่า ภาษาที่หลากหลายมากกว่า แสดงว่าอยู่มาเก่าแก่ในพื้นที่มากกว่า สิ่งมีชีวิตก็เช่นกัน เมื่อเอาความหลากหลายมาจับ แสดงว่าภาษาตระกูลไทพูดในตอนใต้ของจีนนานที่สุด เพราะมีความหลากหลายสูงสุด”

สำหรับคำถามที่ว่า แล้วภาษาตระกูลไท แพร่กระจายมาในเอเชียอาคเนย์ได้อย่างไร ศ.ดร.เสมอชัยกล่าวว่า คนมีการเคลื่อนย้ายแน่ จึงเคลื่อนย้ายภาษาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่บางครั้งก็ไมได้แพร่ไปโดยผู้คนเพียงอย่างเดียว ทว่า เป็นไปเพราะเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ส่วนประเด็นที่ว่า ‘คนไทยมาจากไหน’ หากต้องการตรวจสอบว่าผู้คนมีการเคลื่อนย้ายจริงหรือไหม่ ทางไหน? หลักฐานที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือ ‘พันธุกรรม’ ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image