ปธ.ทปอ.มทร.ห่วงภาคเอกชนเมินนั่ง ‘กก.สภา’ แทนชุดเก่าที่ลาออก หวั่นหลักสูตรชะงัก (คลิป)

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(ทปอ.มทร.) 9 แห่ง เปิดเผยถึงกรณีที่ป.ป.ช.ออกประกาศให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า ตนยังยืนยันในหลักการเดิมคือเห็นด้วยกับประกาศ ป.ป.ช.ฉบับนี้ ที่จะบังคับใช้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่ควรเหมารวมไปถึงคณะกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ภายหลังจากที่ทราบเบื้องต้นว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. จะไม่ยกเลิกประกาศฉบับนี้ โดยจะให้ขยายเวลาการประกาศออกไป 30 วันแทนนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงผลกระทบซึ่งตนคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ก็คือ จะทำให้คณะกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่สะดวกที่จะแจ้งบัญชีทรัพย์สิน พากันลาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อองค์ประชุมของสภามหาวิทยาลัยทันที เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคน เราคงจะห้ามไม่ได้ แต่หลังจากที่กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นลาออกแล้ว มหาวิทยาลัยก็คงจะต้องกลับมาคิดถึงการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาแทน ซึ่งคาดว่าระยะเวลาแค่ 6 เดือน คงจะไม่ทันแน่นอน เพราะการสรรหาจะต้องมีกระบวนการมากมาย รวมทั้งจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งด้วย ซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร ดังนั้นระหว่างที่รอการสรรหาคณะกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าเวลายืดเยื้อมาก ก็จะทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเกิดสุญญากาศขึ้น เพราะไม่ครบองค์ประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกระบวนการบริหารงบประมาณในบางส่วน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากมติของสภามหาวิทยาลัย เรื่องนี้คงต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เข้ามาช่วยเหลือมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาดังกล่าว

ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนคำถามที่ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ มาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหานี้หรือไม่นั้น ตนคิดว่า มาตรา 44 แก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่บางสถานการณ์แก้ปัญหาถูกช่องหรือไม่ เพราะอาจจะไปขัดกับกฎหมายได้ ซึ่งตนคิดว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงพิจารณาแล้วว่าจะต้องใช้หรือไม่ แต่ขณะนี้อธิการบดีมทร.ทั้ง 9 แห่ง เป็นห่วงมากว่าถ้าเกิดสุญญากาศในสภาแล้วเราจะทำอย่างไร ขอฝากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพิจารณาในเรื่องนี้ด้วยและยังมีเรื่องสำคัญอีกอย่างคือ เมื่อประกาศของ ป.ป.ช.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีใครอยากเข้ามาเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ เพราะถ้าเข้ามาแล้วต้องถูกให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งของตนเอง คู่สมรสและบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ด้วย คงจะมีคนอยากเข้ามาน้อยมาก ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็จะทำให้ได้กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่มีคุณภาพเข้ามา ส่งผลให้การพัฒนามหาวิทยาลัยไม่มีคุณภาพไปด้วย โดยเฉพาะมทร.ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งเน้นด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ที่ต้องอาศัยภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ถ้าวันนี้ต้องบังคับให้ภาคเอกชนมาแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ตนเชื่อว่าจะไม่มีภาคเอกชนที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยแน่นอน เพราะถ้าได้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยมหาวิทยาลัยก็จะได้คอนเนคชั่นจากเอกชนมากมาย โดยเฉพาะการนำนวัตกรรม และองค์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งภาคเอกชนยินดีช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่มีคอนเนคชั่นกับภาคเอกชนเป็นการส่วนตัว ก็น่าจะพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ยากมากในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image