‘สช.’ชี้’ร.ร.เอกชนใต้’ทำผิดระเบียบศธ. หลังยอมรับยึดบัตรATM ครูจริง

จากกรณีฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนใน จ.ปัตตานี สามารถตรวจยึดบัตร ATM ที่ใช้คู่กับบัญชีเงินเดือนของครูในโรงเรียนได้จำนวน 23 ใบ โดยเป็นบัตร ATM ของครู 23 คน และพบว่าถูกทางโรงเรียนยึดเอาไว้ จากนั้นเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูต่ำกว่ายอดจริงที่รัฐบาลอุดหนุนช่วยเหลือให้แก่ครูโรงเรียนเอกชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้มีรายรับไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งเบี้ยเสี่ยงภัยอีก 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งเดิมมีการโอนเงินให้แก่โรงเรียน เพื่อนำไปจ่ายให้ครูอีกทอดหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีก่อนๆพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนจ่ายเงินเดือนครูไม่ครบ มีการหักไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง โดยอ้างว่านำไปใช้ในกิจการอื่นของโรงเรียนหรือนำไปจ้างครูเพิ่มเพราะครูไม่เพียงพอนั้น

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนในระบบ ประเภทสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับวิชาสามัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กรณีดังกล่าว โรงเรียนให้การยอมรับว่าได้ยึดบัตร ATM และสมุดบัญชีธนาคารของครูสอนวิชาสามัญจำนวน 26 คน เพื่อความสะดวกในการเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูในอัตราคนละ 7,000 บาท ส่วนต่างอีกจำนวน 8,000 บาท ได้เอาไปเฉลี่ยเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับครูสอนศาสนาอีกจำนวน 28 คน โดยอ้างว่า ครูผู้สอนวิชาสามัญทุกคนยินยอม สำหรับการจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย เดือนละ 2,500 บาท ทางโรงเรียนแจ้งว่าได้จ่ายให้ครูที่มีสิทธิครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชน เป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. 2558 กำหนด

“ในระเบียบศธ. ไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินเดือนครูโดยตรง แต่ให้โรงเรียนดำเนินการจ่ายเงินเดือนครูจากเงินอุดหนุนรายบุคคล ซึ่งเงินเดือนครูดังกล่าวต้องจ่ายเป็นลำดับแรก ในอัตราคนละ 15,000 บาท ต่อเดือน ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่ายเป็นค่าพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ครุภัณฑ์ พัฒนาอาคารสถานที่และการดำเนินการของโรงเรียน และในการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของโรงเรียน พบว่า โรงเรียนไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาจากผู้ปกครอง แต่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคล จำนวน 4,607,976 บาทต่อปี ซึ่งหากจ่ายเงินครูสอนวิชาสามัญจำนวน 26 คน ตามวุฒิการศึกษาที่ทางราชการกำหนด คนละ 15,000 บาท เป็นเงิน 4,680,000 บาทต่อปี” นายชลำ กล่าว

นายชลำ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวแม้จะเป็นการแก้ปัญหาในการบริหารเงินของโรงเรียน แต่ก็ถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ซึ่ง สช. จะดำเนินการสั่งการให้โรงเรียนแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบฯ โดยการพิจารณาสัดส่วน จำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนให้เหมาะสมกับจำนวนเงินอุดหนุนที่ได้รับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในทำนองเดียวกันนี้อีก อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงเรียนที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่ง สช.ได้ดำเนินการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนครูและเบี้ยเสี่ยงภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว และจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

Advertisement

นายชลำ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ มีนักเรียนจำนวน 286 คน เปิดสอนระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีครูจำนวน 54 คน สอนวิชาสามัญ 26 คน และครูสอนศาสนา 28 คน โดยโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในอัตรา ระดับก่อนประถมศึกษา 13,884.50 บาท ต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษา 13,584.50 บาท ต่อคนต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 16,432.50 บาท ต่อคนต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 16,732.50 บาท ต่อคนต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image