เผยข้อมูลย่านการค้ายุคกรุงเก่า เทียบ ‘สำเพ็ง’ ในปัจจุบัน

สำเพ็ง หรือ สามเพ็ง คือถนนสายการค้าของคนจีนมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 1 มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านมาราวสองศตวรรษครึ่งยังคงเป็นย่านขายส่งสินค้าที่สำคัญอยู่เช่นเดิม

สำเพ็งกรุงเทพฯ นั้นเริ่มโดยการย้ายชุมชนคนจีนที่เป็นย่านการค้าในกรุงธนบุรีฝั่งตะวันออกที่อยู่ระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดโพธิ์ ให้ไปตั้งชุมชนถนนการค้าของคนจีนใหม่ที่ด้านใต้นอกกำแพงพระนคร ทั้งนี้เพื่อเอาอาณาบริเวณชุมชนคนจีนนั้นสร้างพระราชวังหลวงและวังเจ้านาย

สำเพ็งของกรุงเทพฯนั้นค้าขายคึกคักทั้งวันจนค่ำมืด ฝรั่งที่เข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์กล่าวว่าอยากหาสินค้าอะไรก็มาหาได้ที่สำเพ็ง

ที่กรุงศรีอยุธยาก็มีย่านสำเพ็งเช่นกัน แต่เรียกรวมๆ ว่า ตลาดใหญ่ตลาดน้อยท้ายพระนคร โดยมีถนนการค้าของคนจีนที่ยาวราวหนึ่งกิโลเมตร คนสมัยปลายอยุธยาเรียกว่า “ตลาดใหญ่ท้ายพระนครย่านในไก่” ส่วนฝรั่งที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์ได้วาดแผนที่กรุงศรีอยุธยาไว้ระบุชื่อถนนย่านนี้ว่า “ถนนจีน” (Rue Chinoise ในแผนที่ฝรั่งเศส หรือ China Street)

Advertisement

ถนนจีน นี้ คนอยุธยาเรียกว่า “ถนนหลวง” เริ่มตั้งแต่ “สะพานประตูจีน” ซึ่งเป็นประตูน้ำเข้าออกพระนครด้านใต้ คลองเส้นนี้ชื่อ “คลองประตูข้าวเปลือก” ที่ตัดจากแม่น้ำลพบุรีด้านเหนือตรงลงมายังด้านใต้ออกแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ที่ด้านใต้นี้เรียกว่า “ประตูจีน” สะพานข้ามปากคลองตรงนี้เป็นสะพานสร้างด้วยอิฐ ปัจจุบันคลองเส้นนี้ไม่มีเหลือแล้ว แต่เป็นถนนชื่อ “ชีกุน” แทน ปากคลองประตูจีนในปัจจุบันน่าจะอยู่บริเวณท่าเรือข้ามไปวัดขุนพรหมหรือช่วงปลายสุดถนนชีกุน

ในแผนที่ฝรั่งระบุว่าย่านตลาดใหญ่ตลาดน้อยนี้มีเจดีย์จีนขนาดใหญ่ ที่ฝรั่งต้องให้ความสำคัญบันทึกไว้ในแผนที่ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ถึง 2 เจดีย์ด้วยกัน  และย่านด้านใต้พระนครมีวัดชื่อจีนหลายวัดในบริเวณนี้ เช่น วัดน้อยประตูจีน วัดท่าจีน วัดจีน วัดเจ๊ก และวัดสามจีน ซึ่งเจดีย์ใหญ่แห่งหนึ่งน่าจะอยู่ที่วัดนี้

ในการสำรวจทำแผนที่กรุงศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ เผยแพร่ปี 2469 ยังแสดงให้เห็น “คลองน้อย” ตามคำอธิบายของคนสมัยอยุธยาว่าตัดเชื่อม คลองในไก่ (ปัจจุบันเรียกว่า คลองมะขามเรียง เพราะปลูกต้นมะขามเรียงเป็นแถวสองฝากฝั่งคลองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) มายังคลองประตูข้าวเปลือกตรงสะพานตลาดจีน มีชุมชนตรงสะพานอิฐข้ามคลองน้อยนี้เป็นย่าน “บ้านดอกไม้เพลิง”

Advertisement

สำเพ็งย่านถนนหลวงที่สร้างด้วยอิฐเป็นตลาดใหญ่ท้ายพระนครกรุงศรีอยุธยานี้ เป็นถนนที่เลียบขนานไปตามกำแพงพระนคร

ถนนตลาดใหญ่ย่านในไก่ นี้ คนสมัยอยุธยาตอนปลายบรรยายว่า “มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง (น่าจะเป็นตึกก่ออิฐสองชั้น ชั้นล่างขายของ ชั้นบนอยู่อาศัย) จีนไทยนั่งร้านขายของ  สรรพสิ่งของเครื่องสำเภาเครื่องทองเหลือง ทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถ ชาม แพรสีต่างๆ อย่างจีน และไหมสีต่างๆ เครื่องมือเหล็ก และสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีนมีครบ มีของรัปทานเปนอาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีน วางรายในร้านขายที่ท้องตลาด มีของสดขายเช้าเย็น สุกร เป็ดไก่ปลาทะเลและปลาน้ำจืดปูหอยต่างๆ หลายอย่างหลายพรรณ” นอกจากนี้ ตรงสะพานประตูจีนยังมีตลาดประตูจีน เป็นตลาด “ขายเครื่องทองเหลืองเคลือบและปรอด” ถัดขึ้นเหนือไปเป็นตลาดขนมจีน “มีร้านโรงจีนทำขนมเปียขนมโก๋เครื่องจันอับขนมจีนแห้งขายเปนร้านชำ”

ต่อจากถนนหลวงตลาดใหญ่ข้ามสะพานไนไก่ไปด้านตะวันออกจนถึงกำแพงพระนครด้านหัวสารพา เป็นถนน “ตลาดน้อย” เรียกว่า “ย่านบ้านสามม้า” มี “จีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับ (คือขนมหวานอย่างแห้งของจีน เช่น ข้าวพอง ถั่วตัด งาตัด) และขนมแห้งจีนต่างๆ หลายชนิดหลายอย่าง และช่างจีนทำโต๊ะเตียงตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างๆ ขายต่อไป ช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้และปลอกเหล็กถังใหญ่น้อยหลายชนิดขาย ชาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างนางเลิ้ง (คือตุ่มหรือถังใส่น้ำ) และทำสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย และรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณตามใจชาวเมืองมาจ้าง และมีตลาดขายของสดเช้าเย็น” บริเวณนี้มีประตูช่องกุด (ประตูเมืองขนาดเล็ก) เป็นท่าเรือจ้างข้ามฟากแม่น้ำป่าสักไปยังวัดพนัญเชิงด้วย

โดยรวม ย่านสำเพ็งในกรุงศรีอยุธยา หรือตลาดใหญ่ตลาดน้อยและตลาดย่านบ้านคนจีนต่อเนื่องนั้น เป็นย่านการค้าที่คึกคักที่สุดของกรุงทั้งกลางวันและยามค่ำ มีสินค้าข้าวของเครื่องใช้อาหารการกินผลไม้ทั้งที่นำมาจากเมืองจีนและผลิตขึ้นที่นี้ จากหลักฐานชี้ให้เห็นว่าย่านตลาดจีนมีอยู่อย่างมั่นคงแล้วจากสมัยพระนารายณ์จนถึงเสียกรุงปี 2310 ราวหนึ่งศตวรรษ

คำถามคือย่านตลาดจีนด้านใต้พระนครอยุธยานี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้คือ อาจมีย้อนขึ้นไปถึงยุคพระเจ้าไชยราชา เมื่อการค้าเรือสำเภาทางทะเลไปมากับเมืองจีนมีเพิ่มมากขึ้น กระทั่งมีการระดมคนนับหมื่นให้ขุดคลองลัดบางกอก และต่อมามีการขยายกำแพงพระนครไปยังด้านตะวันออกในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ทำให้ถนนจีนตลาดจีนที่อยู่ด้านใต้นอกพระนครเข้ามาเป็นย่านการค้าสำคัญในกำแพงพระนคร และน่าจะมีการจัดสร้างถนนจีนด้วยอิฐในสมัยราชวงศ์สุโขทัยหลังฟื้นจากการเสียกรุงครั้งแรก ดังนั้น ถนนจีนตลาดจีนทั้งตลาดใหญ่ตลาดน้อยก็น่าจะมีอายุตั้งแต่เริ่มพัฒนาปักหลักปักฐานกว่า 100 ปี และอาจถึง 200 ปีทีเดียว

 อ้างอิง

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549. หน้า 78-83.

พระยาโบราณราชธานินทร์. เรื่องกรุงเก่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2561. แผนที่หน้า 4-5.

คำให้การขุนหลวงหาวัด. (ต้นฉบับจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2482). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547. หน้า 188, 192-193.

อาคม พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร: รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. การค้าต่างประเทศของอยุธยา หน้า 171-207.

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. (G. William Skinner). สังคมจีนในไทย. แปลจาก Chinese Society in Thailand. บรรณาธิการแปล ชาญวิทย์  เกษตรศิริ. ฉบับแปลพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548. หน้า 4-18.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image