โมเดล”ครู ก-ข-ค” ดัน”ร่างรธน.”ทะลุด่าน

หลังจาก 21 อรหันต์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว

ภารกิจนับจากนี้ไปของ กรธ.จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจด้วยความถูกต้อง

เพื่อนำไปเป็นข้อมูลการตัดสินใจเข้าคูหากากบาท “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ในการออกเสียงประชามติวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้

ทว่า หากไล่เรียงดูจากกระแสสังคมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ค่อยเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดานักการเมือง พรรคการเมือง แม้กระทั่งนักวิชาการเท่าใดนัก

Advertisement

ข้อสังเกตที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นภาพลบในสายตาของประชาชน ก็ทยอยผุดออกมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นงานหนักของ กรธ. ที่จะต้องหาแนวทางเพื่อมาต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้

สำหรับแผนงานของ กรธ.ในการลงพื้นที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้น กรธ.ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ ทั้งกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาช่วยดำเนินการ

Advertisement

ทั้งนี้เริ่มต้นจากการสร้าง “วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย” ระดับจังหวัด หรือ ครู ก. ขึ้นมาจังหวัดละ 5 คน มีคุณสมบัติสำคัญ คือเป็นคนดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย มีความเป็นกลางทางการเมือง รวมทั้งมีทักษะทางการพูด หรือเคยเป็นวิทยากรมาก่อน มาฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม ที่ กทม.

จากนั้น ระหว่างวันที่ 20-31 พฤษภาคม ครู ก.จะนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปถ่ายทอดให้กับวิทยากรระดับอำเภอ สภาองค์กรชุมชน หรือ ครู ข.

และช่วงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-25 มิถุนายนจะเข้าสู่การอบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน หรือ ครู ค. เพื่อทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตยระดับหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 4 คน โดยระดับหมู่บ้าน จะเน้นยุทธศาสตร์วิธีการแบบเดินเคาะประตูบ้านตามครัวเรือนต่างๆ

สำหรับพื้นที่ของ กทม.ทาง กรธ.ขอความร่วมมือจากปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือตัวแทนจากกรรมการชุมชน กทม.ที่จดทะเบียน มาช่วยเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของเครือข่ายครู ก.ครู ข.

และครู ค. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรธ.จึงเปิดฮอตไลน์สายด่วนเพื่อให้ครู ก. ครู ข. รวมไปถึงครู ค. สามารถต่อสายตรงมาหา กรธ.ได้ หากพบปัญหาต่างๆ

นอกจากนี้ กรธ.ยังมีอีกหลายช่องทางเพื่อประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของ กรธ.ด้วย

เพื่อให้การรับรู้ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนไม่เกิดความเบื่อหน่าย เนื่องจากหากต้องฟังร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยเนื้อหามากมายถึง 279 มาตรา กรธ.จึงผุดไอเดียนำเสนอและถ่ายทอดเนื้อหาที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญผ่านการร้อง รำ ทำเพลง

เบื้องต้นบทเพลงจะมีทั้ง 4 ภาค โดยภาคกลาง เป็นเพลงแหล่และเพลงโทนของ ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ ส่วนภาคใต้ เป็นเพลงของ เอกชัย ศรีวิชัย นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง

ภาคอีสาน เป็นเพลงหมอลำหรือลำตัด โดย “จินตหรา พูนลาภ” นักร้องลูกทุ่งสาวชื่อดัง และภาคเหนือเป็นเพลงสะล้อ ซอซึงจาก ธีรวัฒน์ หมื่นทา ศิลปินพื้นเมือง ซึ่งถือว่าทุกภาคจะมีเพลงที่เป็นเพลงประจำภาค

อย่างไรก็ดี กรธ.มีแผนงานว่า ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาลงประชามติ รูปแบบการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.อาจเป็นในรูปแบบคล้ายๆ กับรายการแกะกล่องร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ด้วย

ด้านกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ทุกจังหวัดเตรียมการ “จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์” ในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการทำงานตามที่ กรธ.ร้องขอ รวมทั้งให้เตรียมการคัดเลือกวิทยากร ครู ก.ระดับจังหวัด จังหวัดละ 5 คน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรม สร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถนำไปถ่ายทอดและจัดฝึกอบรมวิทยากร ครู ข. ระดับอำเภอ และวิทยากรระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การคัดเลือกวิทยากร ครู ก. ระดับจังหวัดให้คัดเลือกจากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หรือข้าราชการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความพร้อม มีความรู้ ความสามารถ และมีความรับผิดชอบ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามกรอบแนวทางที่ กรธ.กำหนด

ทั้งนี้ มีองค์ประกอบ คือ 1.ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดจังหวัด 2.ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ หรือผู้แทน 3.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้แทน 4.ศึกษาธิการจังหวัด หรือผู้แทน 5.หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หรือข้าราชการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร

โดยจะมีการจัดอบรมวิทยากร ครู ก. ระดับจังหวัด ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม อบรมวิทยากรระดับอำเภอ ครู ข. จำนวน 878 อำเภอๆ ละ 10 คน รวม 8,780 คน ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-10 มิถุนายน และอบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน/ชุมชน 80,491 แห่งๆ ละ 4 คน รวม 321,964 คน ระหว่างวันที่ 11-30 มิถุนายน

จากนั้นวิทยากรทุกระดับจะร่วมกันลงพื้นที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดระหว่างวันที่ 1-20 กรกฎาคม

กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย บอกถึงความคืบหน้าในการจัดอบรมว่า ตอนนี้เรารอรายละเอียดจากทาง กรธ. เรามีหน้าที่แค่ส่งรายชื่อให้เขา ต้องรอวันที่ 18-19 มิถุนายนจึงจะเริ่มอบรม อย่างไรก็ตามขณะนี้เราได้ส่งรายชื่อผู้ที่จะเข้ารับการอบรม (ครู ก.) ไปแล้วจังหวัดละ 5 คน โดยขั้นตอนการลงไปทำความเข้าใจจะเป็นลักษณะไปประชุมชาวบ้าน

แต่ทั้งนี้ ที่เรายังขยับมากไม่ได้เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับ กรธ. เขายังคุยกันไม่สะเด็ดน้ำว่าอย่างไร ถ้าพวกผมเดินไปก่อนแล้วอาจผิดข้อห้าม 8 ข้อ ของ กกต.

ทั้งนี้บทบาทของกระทรวงมหาดไทยเราทำ 3 เรื่องคือ 1.ให้ความร่วมมือ กรธ. 2.อำนวยความสะดวก กกต. ในการสนับสนุนคน สถานที่ บัญชีรายชื่อ และส่งบัญชีรายชื่อไปยังผู้มีสิทธิลงคะแนน และ 3.เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เท่านั้นเอง

“แต่รายละเอียดต้องรอให้ทาง กกต.มาชี้แจงให้เราทราบก่อนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ พวกเราเลยรอก่อน ส่วนที่ถามว่า ระหว่างที่ลงไปให้ความรู้ต้องให้ กกต.ไปด้วยหรือไม่นั้น ที่คุยกันเบื้องต้นไม่มี จะลงเฉพาะกับ กรธ.เท่านั้น” ปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุป

ทั้งหมดนี้เป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน ก่อนที่จะเข้าคูหาลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image