เชื่อพิษยื่นบัญชีทรัพย์สินทำกก.สภาฯลาออกเพียบ ‘สภามก.-จุฬาฯ’ ยันทางออกต้องเว้นสภามหา’ลัย

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปอีก 60 วันมีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้ายังมีปัญหาอยู่อาจเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยอาจโยกตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่นและเปิดเผยตามมาตรา 102 และ106 แห่งพ.ร.ป.ป.ป.ช.มาอยู่ในมาตรา 103 คือยื่นแต่ไม่เปิดเผยแทนนั้น

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า  สภามก. มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการแล้ว 3 รายหนึ่งในนั้นคือ น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อุปนายกสภา และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งเป็นประธานสรรหาอธิการบดีมก. และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแสดงความประสงค์ลาออกเพิ่มอีก 2 ราย ยอมรับว่า ประกาศ ที่กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัยพย์สิน ค่อนข้างกระทบกับมหาวิทยาลัย อย่างในส่วนของมก. ส่งผลให้สภาไม่ครบองค์ประชุม ต้องรอสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสรรหาอธิการบดีมก.และคณะบดี รวมถึงผู้อำนวยการสำนัก ที่กำลังจะหมดวาระเร็ว ๆ นี้ได้  ส่วนกรณีที่ป.ป.ช. เสนอแนวแก้ไขประกาศป.ป.ช. คือ ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามเดิม แต่ไม่ประกาศต่อสาธารณะ นั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะเป็นไปตามแนวทางดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งหากประกาศออกมาแล้ว ก็คงต้องหารือกันในสภาฯ ส่วนตัวเชื่อว่า กรรมการสภาฯ ส่วนหนึ่งอาจจะรับได้ แต่อีกหลายคนคงยืนยันลาออกเช่นเดิม

“ผมเองรับได้ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากเคยทำมาแล้วในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. จึงไม่เห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ในส่วนของกรรมการสภาฯคนอื่น ๆ มองว่า ไม่น่าจะจำเป็นต้องยื่นเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ ทำหน้าที่กำกับดูแลเชิงนโยบาย   ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามากกับมหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระ อย่างมากทราบว่ากรรมการสภาฯ และกรรมการในองค์กรอิสระอีกหลายแห่งลาออกจากตำแหน่งแล้ว หากป.ป.ช. ไม่เร่งหาแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน คิดว่าจะมีกรรมการสภาฯ ลาออกมาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สูญเสีย คนดีและคนเก่งที่จะเข้ามาช่วยงานการศึกษา”นายกฤษณพงศ์กล่าว

นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัดศธ. กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากป.ป.ช.แก้ไขประกาศ ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามเดิมแต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนตัวรับได้ และเชื่อว่ากรรมการสภาฯ ส่วนใหญ่ก็รับได้เช่นกัน เพราะการเปิดเผยค่อสาธารณะอาจทำให้เกิดความวุ่นวายเป็นช่องทางให้คนที่ไม่ประสงค์ดีมากลั่นแกล้ง ทำให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนจะลาออกหรือไม่ลาออกนั้น  ยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะป.ป.ช.เองยังไม่ได้ประกาศแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน คงต้องรอดูก่อน ทั้งนี้โดยหลักการกรรมการสภาฯ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ ดังนั้นก็ไม่น่าจำเป็นที่จะต้องยื่น

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image