ปรากฎการณ์ ‘นักเรียนผี’!! คอร์รัปชั่น..กับ “การบริหารแบบมีส่วนร่วม”

“นักเรียนผี” เป็นที่โจษจัน ก่อนหน้าเคยได้ยินบางคนแดกดัน

“บ้านเราสามารถพบเห็นความไม่ถูกต้องได้ตั้งแต่ออกจากบ้าน”,

“ถ้าไม่มีเรื่องพวกนี้ถนนหลายสายปูด้วยทองคำไปแล้ว”

คอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยสำคัญเชิงลบ ทำให้การพัฒนาในหลายเรื่องล้าหลัง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง
เรามักได้ยินเรื่องแย่ๆ พวกนี้จากสื่อไม่เว้นแต่ละวัน และแทบทุกกระทรวง ทบวง กรม ยิ่งไปกว่านั้น การที่นักเรียนผีเกิดขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเฉพาะที่โรงเรียน เป็นความเลวร้ายอย่างที่สุด เหตุเพราะโรงเรียนเป็นสถานที่สร้าง หรือพัฒนาคน ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน โรงเรียนจึงควรเฟ้นไว้เฉพาะเบ้าหลอมที่ดี

Advertisement

เราทุ่มเทงบประมาณไปกับการจัดการศึกษา ไม่ต่างจากประเทศที่มีสัมฤทธิผลดีทั้งหลาย แต่ผลลัพธ์กลับยักแย่ยักยันมาโดยตลอด ด้วยผลการประเมินทั้งใน และนอกประเทศ ซึ่งสังคมมักวิพากษ์ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วันนี้ฉาวโฉ่ไปด้วยคอร์รัปชั่น อาจเป็นคำตอบ หรือร่องรอยหลักฐานชั้นดี “ใยเด็กๆ เราสู้เขาไม่ได้ ทั้งที่งบประมาณค่าใช้จ่ายไม่น้อยหน้าประเทศอื่นแล้ว”

นักเรียนผี เป็นนักเรียนไม่มีตัวตนจริงในโรงเรียน เป็นตัวเลขเสกสรรปั้นแต่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ได้แก่ งบประมาณรายหัว โอกาสย้ายของผู้บริหาร ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำรวจหาข้อมูลเรื่องนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีข้อสรุป “รูปแบบการกระทำดังกล่าว เป็นไปได้ที่จะเกิดกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ” น่าเศร้าใจกับเรื่องราวของผู้มีหน้าที่หล่อหลอมคนให้เป็นคนดี

ปัจจุบันการรายงานจำนวนนักเรียนเพื่อรับจัดสรรงบประมาณรายหัว ในรอบปีการศึกษา โรงเรียนจะดำเนินการอยู่สองครั้ง ทุกวันที่ 10 มิถุนายน และ10 พฤศจิกายน ด้วยระบบการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center ; DMC) ซึ่งเป็นการรายงานแบบออนไลน์ โดยเขตพื้นที่การศึกษาจะรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนทั้งหมดส่งต่อให้ สพฐ.

Advertisement

อันที่จริงระบบ DMC ตรวจสอบความซ้ำซ้อนเลขประจำตัวประชาชนนักเรียนเก่งมาก โดยเฉพาะโรงเรียนสังกัด สพฐ.ด้วยกัน แต่ความคดโกงก็ยังเกิดขึ้น ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนในการสร้างคนดี อะไรจะเหนือความฉ้อฉลคน เทคโนโลยีที่ว่าก้าวหน้าทันสมัยก็เถอะ การพัฒนาให้ถึงก้นบึ้งของหัวใจ จึงเป็นความท้าทายของการจัดการศึกษา ถ้าจิตใจยังไม่ดี ลำพังกฎหมายป้องกันคนทำชั่วไม่ได้

นักเรียนผีทำให้ยอดนักเรียนสูงขึ้น หมายถึงงบประมาณจัดการศึกษาที่รัฐจ่ายให้ตามรายหัวก็จะเพิ่มขึ้นด้วย คอร์รัปชั่นที่โรงเรียนไม่ใช่มีเฉพาะนักเรียนผี แต่เรื่องนี้เป็นต้นน้ำ หรือต้นทุนสำคัญ ซึ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นๆ

ตัวอย่างอีกหลายเรื่องจึงส่อเจตนา ถ้าไม่ใช่หน่วยงานทำหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง เช่น ป.ป.ท.ก็ยากจะหาหลักฐานเอกสารมากล่าวโทษ ทั้งที่ง่ายมากหากสังเกต และพิจารณาพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ เปลี่ยนร้านซื้อวัสดุครุภัณฑ์ ทั้งที่ราคาสินค้าหลายๆ อย่างแพงกว่า เปลี่ยนบริษัทประกันอุบัติเหตุ เลือกที่เก็บเบี้ยประกันสูง แถมความสะดวกในการเบิกจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุของนักเรียนลดลง สั่งซื้อสมุดมากมายกว่าจำนวนนักเรียนจนเหลือกองพะเนิน หรือผูกขาดขายน้ำดื่มบรรจุขวดเสียเอง ขณะเครื่องกรองน้ำดื่มปกติของโรงเรียนมักเสีย หรือใช้งานไม่ได้อยู่บ่อยๆ ฯลฯ

อีกประการที่เกี่ยวข้อง ระเบียบการย้ายผู้บริหารไม่สามารถย้ายข้ามขนาดโรงเรียน เกณฑ์ปัจจุบันจำแนกโรงเรียนจากยอดนักเรียนได้เป็น 4 ขนาด ได้แก่ เล็ก กลาง ใหญ่ และใหญ่พิเศษ ผู้บริหารจะย้ายจากโรงเรียนเล็กไปใหญ่ หรือกลางไปใหญ่พิเศษไม่ได้ จากเล็กต้องไปกลาง หรือจากกลางต้องไปใหญ่ก่อนเท่านั้น เป็นที่มาทำให้ผู้บริหารบางคนเห็นผิดเป็นชอบ ยิ่งเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว ความละโมบของคนไม่เข้าใครออกใครเสียด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมด เพียงอยากบอก แม้การบริหารโรงเรียนทุกวันนี้จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ด้วยรูปแบบคณะกรรมการสถานศึกษา มองผิวเผินดูดี คงร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย แต่การปฏิบัติจริงที่โรงเรียนแล้วตรงข้าม ผู้บริหารยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ไม่ต่างจากก่อนพระราชบัญญัติฯ ประกาศใช้ นับเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้น

นักเรียนผีที่ปรากฏเป็นกรณีศึกษาชัดเจน แน่นอนว่าผลกระทบท้ายสุดย่อมตกไปอยู่กับเด็กตาดำๆ หรือลูกหลานของพวกเราอีกเช่นเคย

โดยสรุปการแก้ไขนักเรียนผี หรือคอร์รัปชั่นที่โรงเรียนให้ยั่งยืน ต้องสร้าง หรือพัฒนาการบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการเร่งถอดบทเรียนถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคปัญหาในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารภายในโรงเรียนอย่างจริงจัง

การบริหารแบบมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียตาม หลักคิดของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะสร้างความร่วมมือร่วมใจ ร่วมคิดร่วมทำ นำไปสู่การตรวจสอบถ่วงดุล ลดทอนอำนาจ เกิดความสะอาดโปร่งใสได้ในที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image