สพฐ.แจงใส่’คิวอาร์โค้ด’ในตำราแค่บางวิชา จี้ร.ร.วางแผนสอนให้เหมาะสม

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยกรณีที่มีเสียงวิจารณ์สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ให้สำนักพิมพ์ใส่คิวอาร์โค้ด เนื้อหาเพิ่มเติมลงในหนังสือเรียนวิชาต่างๆ โดยนักเรียนต้องใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกน อาจจะเปิดปัญหาตามมา และเป็นการสร้างภาระให้ผู้ปกครอง สร้างความฟุ่มเฟือยนั้น ว่า การใส่คิวอาร์โค้ดเข้าไปในหนังสือเรียนเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหาและสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียน และใช้สำหรับบางรายวิชาเท่านั้น โดยเน้นในวิชาที่ไม่สามารถสอนในรูปแบบภาพนิ่งได้ ต้องมีภาพเคลื่อนไหวประกอบเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น เช่น วิชาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ เป็นต้น อีกทั้งหนังสือเรียนที่เพิ่มคิวอาร์โค้ดนี้ เริ่มต้นในหนังสือเรียนระดับมธัยมศึกษาตอนปลาย ส่วนจะพัฒนาต่อยอดหนังสือเรียนระดับชั้นอื่น จะมีคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาหารือกันต่อไป

“การออกแบบเนื้อหาหนังสือเรียนที่ใช้คิวอาร์โค้ด ได้ผ่านกระบวนการคิดและวิเคราะห์ร่วมกันจากหลายฝ่าย เพราะต้องคำนึงวัยของนักเรียนด้วย นอกจากนี้ สพฐ.ต้องคิดถึงขั้นตอนกระบวนการทำ โดยเข้าไปพูดคุยกับสำนักพิมพ์เอกชน หรือองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ผู้พิมพ์หนังสือเรียนว่าการเพิ่มคิวอาร์โค้ดนั้นกระทบเพิ่มต้นทุนในการพิมพ์หนังสือหรือไม่ และนักเรียนไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนทุกคนในการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับโรงเรียนและครูผู้สอนว่าจะวางแผนการสอนอย่างไรให้นักเรียนได้เรียนอย่างทั่วถึง ซึ่งการเรียนการสอนมีหลายรูปแบบ เช่น การเรียนร่วมกันผ่านหน้าจอทีวีหรือโปรเจคเตอร์ เป็นต้น” น.ส.นิจสุดา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image