เสียงร่ำลือจากท้องทะเล ท่วงทำนองศิลปะ “เด็กบ้านคลองม่วง”

เป็นช่วงที่ จ.กระบี่ คึกคักไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาสัมผัสเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ของเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อและความศรัทธา ตลอดจนความงดงามด้วยวิถีแห่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวกระบี่ได้ส่งผ่านแรงบันดาลใจไปสู่บรรดาศิลปินให้เนรมิตจินตนาการสู่ผลงานศิลปะในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562

ผลงานศิลปะในงานนี้มีความหลากหลายด้วยการสัมผัสด้วยสายตาและหัวใจภายใต้แนวคิด Edge of the Wonderland คือ มุมมองและวิธีคิดที่กล้าหาญ นำผู้คน ห้วงเวลา และทรัพยากรในธรรมชาติมาเชื่อมโยงสื่อความหมายออกมาได้อย่างงดงามลุ่มลึกและสะท้อนภาพความเป็นจริงอย่างชัดเจน

เสียงอันทรงพลังจากท่วงทำนองแห่งธรรมชาติ เสียงร่ำลือจากท้องทะเล หรือ Rumors From the sea เป็นตัวอย่างผลงานศิลปะร่วมสมัยชิ้นหนึ่งที่ศิลปินผู้สร้างสรรค์ ชาวเม็กซิกัน-ฝรั่งเศส เฟลิกซ์ บลูม (Felix Blume) ใช้รูปแบบการติดตั้งและจัดวางเสียงเพื่อนำเสียงดนตรีจากท้องทะเลมาสู่ผู้คนบนฝั่งสร้างความสุขและความอัศจรรย์ใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาชมทิวทัศน์ธรรมชาติ ณ บริเวณสะพานลอยน้ำหินเพิง หาดคลองม่วง ด้วยทางเดินที่ทอดยาวไปสู่เวทีขนาดใหญ่ริมชายหาด ล้อมรอบด้วยขลุ่ยจำนวนมากที่ติดตั้งอยู่บนแนวรั้วไม้ไผ่ ซึ่งให้บรรยากาศราวกับได้ฟังการบรรเลงออเคสตราจากขลุ่ยไม้ไผ่เหล่านี้โดยสายลมและเกลียวคลื่นจากใต้ท้องทะเล

Advertisement

เฟลิกซ์ บลูม เล่าว่า ผลงานส่วนใหญ่ของตนเองเป็นงานที่เกี่ยวกับการจัดวางเสียง เช่น เสียงฝนตก ฟ้าร้อง เสียงกบ คางคก เสียงธรรมชาติและสัตว์ประจำถิ่น ทั่วทุกมุมโลก สำหรับ Thailand Biennale, Krabi 2018 ได้สร้างงานประติมากรรมที่ใช้ไม้ไผ่และขลุ่ยไม้ไผ่ ชื่อว่า Rumors from the sea หรือเสียงข่าวลือจากท้องทะเล คำว่า Rumor มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ซึ่งมีนัยว่า อาจจะเป็น เรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา เรื่องราวที่เราไม่รู้ว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ หมายถึงสิ่งที่มาจากท้องทะเล แต่เราไม่รู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร

ผลงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเขื่อนไม้ไผ่ที่ชาวบ้านในประเทศไทยสร้างไว้เพื่อใช้ทำลายคลื่น ซึ่งใน จ.กระบี่ ก็มีที่หมู่บ้านคลองประสงค์ บนเกาะกลาง โดยชาวบ้านใช้แนวรั้วไม้ไผ่ชั่วคราว ในการชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากธรรมชาติ ได้แก่ ชาวบ้านคลองออใกล้กับตัวเมืองกระบี่ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาแล้วถึง 5 ครั้งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ซึ่งถูกน้ำทะเลกลืนแผ่นดินจมหายไปเกือบ 3 กิโลเมตร

เสียงขลุ่ยที่บรรเลงจากท้องทะเลนั้น จะดังขึ้นตามระลอกคลื่นและกระแสลม ดังนั้น ในแต่ละวัน เสียงดนตรีที่บรรเลงโดยขลุ่ยไม้ไผ่เหล่านี้จึงมีท่วงทำนองและความไพเราะที่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่ผ่านไปมาแวะชมทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยงาม พร้อมๆ กับรับฟังบทเพลงที่บรรเลงโดยท้องทะเล ซึ่งให้ความไพเราะ แตกต่างกันออกไปตามบริบทที่อยู่รายรอบ ในยามคลื่นลมสงบท่วงทำนองดนตรีก็จะแผ่วเบาอ่อนหวาน ต่างจากในวันที่ท้องทะเลมีพายุคลื่นลูกใหญ่ขลุ่ยไม้ไผ่ทั้งหมดนี้ก็จะประสานเสียงร้องระงมไปทั่วแนวหาดคลองม่วงเลยทีเดียว

รู้สึกประทับใจที่ชาวบ้านนำวัสดุในท้องถิ่นที่เรียบง่ายและหาได้ในชีวิตประจำวัน มาเป็นอุปกรณ์เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและป้องกันภาวะน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งผมจึงเพิ่มขลุ่ยขนาดเล็ก บนยอดของเสาไม้ไผ่ โดยได้ทำการปรับระดับ pentatonic จาก G4 เป็น A5 ที่ด้านล่างของไม้ไผ่ รูด้านข้างของไม้ไผ่จะช่วยให้น้ำไหลเวียนเข้าและออก เมื่อคลื่นแต่ละตัวไหลเข้ามาภายช่องแรงคลื่นลมจะดันอากาศออกไปสู่ขลุ่ยด้านบนทำให้เกิดเสียงตัวโน้ตที่แตกต่างกันไปŽ เฟลิกซ์ บลูมกล่าว

ผลงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำขลุ่ยและนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองม่วงที่น่ารักหลายสิบคน ตอนที่ทำกิจกรรมเวิร์กช็อป เด็กๆ ได้จินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตที่สามารถมาจากทะเลเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นความประทับใจและประสบการณ์ครั้งสำคัญของเด็กๆ และผู้ร่วมโครงการ ส่งผ่านความสุขมายังบทเพลงที่เราได้ฟังกันในแต่ละช่างเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image