‘โกวิทย์’เผย ป.ป.ช. ชี้ช่องให้มหา’ลัยทุจริตฮั้วผลประโยชน์-ขาด’กก.สภา’คานอำนาจอธิการบดี

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปอีก 60 วัน โดยจะมีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้ายังมีปัญหาอยู่อาจเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยอาจโยกตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่น และเปิดเผย ตามมาตรา 102 และมาตรา 106 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.มาอยู่ในมาตรา 103 คือ ยื่น แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะแทนนั้น

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในฐานะกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มรภ.สงขลา เปิดเผยว่า กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ของสภามรภ.สงขลา จะมีจำนวน 11 คน แต่หลังจากที่ นายจรัส สุวรรณมาลา นายกสภา และกรรมการสภา รวมตน จำนวน 8 คน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภา โดยให้มีผลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น ตนไม่แน่ใจว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคเอกชน อีก 3 คน จะลาออกเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตามจะรอดูการแก้ไขของ ป.ป.ช. ว่าจะมีทางออกอย่างไร หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ป.ป.ช. ไม่แก้ปัญหาอะไรเชื่อว่ากรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 ราย ลาออกแน่นอน

“สังคมภายนอกตั้งคำถาม และมองว่าเหตุใดกรรมการสภาถึงต้องการหลีกเลี่ยงการยื่นทรัพย์สินนั้น อยากให้สังคมเข้าใจในประเด็นเรื่องของคำนิยาม ที่ ป.ป.ช. ตีความว่าผู้บริหารระดับสูง รวมถึงนายกสภาและกรรมการสภาด้วย ผมว่า ป.ป.ช. ตีความเกินเลยไป เพราะผู้บริหารจะต้องมีงบประมาณอยู่ในมือหรืออยู่ในองค์กร แต่สภามหาวิทยาลัยไม่มีงบประมาณที่จะไปจัดซื้อจัดจ้าง รับเงินแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น และสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการกับดูแลหลักสูตร อนุมัติปริญญาเท่านั้น ผมว่ากรรมการสภาหลายคนไม่เห็นด้วยที่ ป.ป.ช. ตีความครอบคลุมแบบนี้ ต้องนิยามคำนี้ใหม่ อีกทั้งการยื่นบัญชีทรัพย์สินมีรายละเอียดในการยื่นที่มากเกินไป และการชี้แจงทรัพย์สินครอบคลุมถึงภรรยาและบุตรด้วย โดยกรรมการสภาบางคนอาจไม่สะดวกใจ และอาจจะตัดสินใจลาออกได้” นายโกวิทย์ กล่าว

นายโกวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ยื่นทรัพย์สินแต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะนั้น กรรมการสภาส่วนหนึ่งอาจจะพอใจและทำตาม แต่กรรมการสภาบางส่วนก็กลัวว่าหากยื่นไม่ครบ ขาดตกบกพร่องจะเกิดปัญหามีความผิดในคดีอาญาในภายหลังได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นความสัมพันธ์ว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สิน จะสามารถแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ มองว่าประเทศที่มีปัญหาทุจริตมาจากเรื่องอื่น เช่น ไม่สามารถสาวไปถึงกระบวนการของการทุจริตมากกว่า เป็นต้น

Advertisement

“หาก ป.ป.ช.ยังยืนยันคำตอบเดิม และกรรมการสภาลาออกไป ผมคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตกันภายในมหาวิทยาลัย เพราะฝ่ายบริหารจะหาพวกเดียวกันเข้ามาเป็นกรรมการสภา การฮั้วกันในด้านผลประโยชน์จะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะจะไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากภายนอกเข้ามาคานอำนาจกับอธิการบดี อีกแล้ว และการกระทำลักษณะนี้ ป.ป.ช.จะสืบสวนไม่ถึงต้นตอของการทุจริตแน่นอน ผมมองว่าการกำหนดให้นายกสภาและกรรมการสภายื่นทรัพย์ จะเกิดผลเสียมากว่าผลดีต่อมหาวิทยาลัย แต่เห็นด้วยที่จะให้ตำแหน่งบริหาร อย่างอธิการบดีและรองอธิการบดียื่นทรัพย์สิน”นายโกวิทย์ กล่าว

ด้านนางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ มธ.อยู่ระหว่างการสรรหากรรมการสภา มหาวิทยาลัยชุดใหม่ ซึ่งประกาศ ป.ป.ช.ที่ออกมาโดยกำหนดให้นายกสภาและกรรมการสภายื่นบัญชีทรัพย์สินโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีผลต่อการสรรหา หรือทาบทามกรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนหรือไม่นั้น  ตนไม่สามารถตอบได้ แต่ขอยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image