วชช.ขานรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ช่วยประเทศแก้เหลื่อมล้ำ

ดร.ชุมพล พรประภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิทยาลัยชุมชน (วชช.) เปิดเผยในการประชุมของผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชน 20 แห่งว่า ที่ผ่านมาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นหลักสูตรซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของท้องถิ่นและตลาดแรงงาน  ทั้งนี้จุดเด่นของวิทยาลัยชุมชน คือเข้าถึงความต้องการชุมชน อีกทั้งกรรมการสภาของแต่ละสถาบันมีทั้งผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หอการค้าจังหวัด ภาคเอกชน ทำให้เราสามารถจับจุดได้ว่าโจทย์ที่ท้องถิ่น ต้องการให้พัฒนาคือเรื่องใดบ้าง โดยในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป ล่าสุดได้เชิญกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาร่วมประชุมและบรรยายให้แก่ผู้บริหาร วชช.ทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศเกี่ยวกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นทุนสนับสนุนที่มีลักษณะการทำงานแบบร่วมพัฒนา ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน เน้นให้สถาบันทำงานกับภาคเอกชนในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้มีทักษะ ความพร้อม ตามความต้องการตลาดแรงงาน

“ถึงแม้ว่างบประมาณไม่ได้มากมาย แต่กสศ.คิดค้นลงทุนได้ถูกจุด เน้นกลุ่มเป้าหมาย เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงขึ้น และยังพัฒนาคุณภาพสถาบันสายอาชีพควบคู่ไปด้วย  เป็นมิติใหม่ของการให้ทุนสนับสนุนที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ตอบโจทย์ชุมชนท้องถิ่นและโจทย์ประเทศ เท่าที่ดูคาดว่า มีวิทยาลัยชุมชนไม่ต่ำกว่า4 แห่งที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ และร่วมเสนอโครงการ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาวิทยาลัยชุมชน ให้เป็นสถาบันนวัตกรรมชั้นสูงในปีแรก ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ฝีมือของผู้บริหาร วชช.ที่สะท้อนการทำงานเพื่อปฏิรูปคุณภาพสถาบันอย่างแท้จริง” ดร.ชุมพล กล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โจทย์สำคัญของ  กสศ.คือทำอย่างไรที่จะเพิ่มคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งไปที่เด็กและเยาวชนจากครอบครัวรายได้ต่ำสุด20%แรกของประเทศ จำนวนประมาณ160,000 คน  ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมไทย ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ

“โครงการนี้จะช่วยให้เกิดผลประโยชน์ใน 3 ประเด็นหลัก คือ1.สร้างโอกาสให้นักเรียนยากจนราว 2,500 คน นักเรียนกลุ่มนี้แทบจะไม่เคยมีโอกาสได้เรียนสูงกว่ามัธยมปลาย ได้เรียนต่อสายวิชาชีพ 2.สถาบันวิชาชีพมีการปรับตัว ขณะนี้หลายแห่งกำลังพัฒนาแผนงานแนวใหม่เจาะจงสาขาที่จบแล้วมีอนาคต  รวมถึงแผนงานที่จะดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด 3.ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมโดยจะเริ่มทำงานกันทันทีตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 นี้ ซึ่งวิทยาลัยชุมชนเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการ ที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นสถาบันนวัตกรรมชั้นสูง ช่วยสร้างกำลังแรงงานสายอาชีพที่จะเป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศได้ ”นพ.สุภกร กล่าว

Advertisement

ด้าน นายวิชัย ชวนรักษาสัตย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนพิจิตร  กล่าวว่า ปัจจุบัน วชช.พิจิตร จัดการสอนระดับปวช.ปวส.และอนุปริญญา ปีการศึกษา 2561 มีนักศึกษา1,600 คนตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อติดกับ3จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร เด็กส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กพื้นที่ชายขอบมีฐานะยากจน บางรายก็ต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ไปทำงานที่อื่น ซึ่งหากมีการสนับสนุนทุนนวัตกรรมการสายอาชีพชั้นสูง เข้ามาก็จะช่วยให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้วิทยาลัย ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย  โดยเฉพาะวชช.พิจิตร สนใจที่จะร่วมนำเสนอโครงการ เพราะเราเน้นการจัดการศึกษาเรื่อง “นวัตกรรมพลังงานทดแทนเพื่อชุมชน” ของสาขาช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และยังมีการพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี เช่น บริษัท มิตซูบิชิ สาขาช่างแอร์, บริษัทโซนี่ เกี่ยวกับเทคโนโลยีกล้องดิจิทัล โทรศัพท์มือถือ รวมถึงเรื่องระบบไฮโดรลิกและพลังงานทดแทน เป็นต้น  ทั้งนี้หากวิทยาลัยชุมชนใดได้รับการคัดเลือก จะประกาศรับนักศึกษาโดยจัดให้มีการแนะแนวที่โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/ปวช.3 ที่กำลังจะจบการศึกษาราวเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม นี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image