‘หมอธี’สั่ง ‘สสวท.-สพฐ.’จับมือพัฒนาครูของครูวิทยาศาสตร์

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่จังหวัดอุดรธานี นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของศธ.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) โดยได้เยี่ยมชม “โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย” โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี

โดยนพ.ธีระเกียรติ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยถือว่าดำเนินการมาถูกทาง ทั้งนี้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ สะเต็มศึกษาเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการหลายแนวทาง โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง โดยมี 20,000 กว่าโรงเรียน หรือประมาณ 80% ดำเนินโครงการนี้ เฉพาะในจังหวัดอุดรฯ มีประมาณ 100 กว่าโรงเรียน เรียกว่าเราเดินมาถูกทาง แต่สิ่งที่สำคัญต้องเชื่อมโยงกับแผนการศึกษาชาติ ซึ่งมีหัวข้อหลัก คือ การเข้าถึงการศึกษา คุณภาพ ความไม่เท่าเทียม และสุดท้ายประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงเรื่องการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ราชการลงทุนมากได้ผลน้อย เพราะไปลงทุนผิดคน 

“วิธีการพัฒนาการศึกษาแต่ละพื้นที่มีวิธีการต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องคุณภาพ โดยโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ครูผู้สอนต้องได้รับการอบรม จากวิทยากรหลัก หรือครูของครู ซึ่งปัจจุบัน วิทยากรหลักอาสุโส ทั่วประเทศมี 4 คน และวิทยากรที่อบรมครูทั่วไปมีทั้งหมด 30 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นถ้าอยากให้โครงการนี้มีคุณภาพต้องลงทุนพัฒนาวิทยากรเหล่านี้ และต้องสร้างวิทยากรเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นแบบนี้นโยบายการดำเนินการจะต้องชัด เชื่อมโยงกับการสร้างหลักสูตร ให้มีความสอดคล้องกัน เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)จะต้องลงไปดูร่วมกัน”นพ.ธีระเกียรติกล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนครูผู้สอนวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องผลิตเพิ่มหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ไม่ถือว่าขาดแคลน แต่อยู่ที่บริหารจัดการ ตรงนี้ สพฐ.จะต้องไปดูแลบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

ด้านนายพยัคฆพล รอดชมภู ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี กล่าวว่า โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้เริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทยโดยได้รับแนวคิดมาจากโครงการบ้านบัณฑิตน้อยประเทศเยอรมัน มีจังหวัดนำร่องครั้งแรก 12 จังหวัด ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลอุดรธานีเป็นโรงเรียนนำร่องและได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการในเครือข่ายขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) และผ่านเกณฑ์การประเมินได้รับตราพระราชทาน “บ้านวิทยาศาสตร์น้อย” เป็นครั้งแรกในปี 2554 ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยของ สพฐ.เป็นรุ่นที่ 5 และเข้ารับตราพระราชทานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีลักษณะเป็นนักวิทยาศาสตร์มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและจิตวิทยาศาสตร์พัฒนาครูให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ในระดับปฐมวัย พร้อมสนับสนุนแนวคิดกิจกรรมตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image