มรภ.ยันต้องเว้นยื่นบัญชีทรัพย์สินเท่านั้นลุ้นถกร่วมป.ป.ช. 4 ม.ค.นี้

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับนิยามผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิ้น และตำแหน่งใดไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน ล่าสุดนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า มาตรา 44 มีผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการกองทุน แต่สำหรับนายกสภาและกรรมการสภา ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไปว่าจะต้องยื่นบัญชีหรือไม่นั้น

นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)อุตรดิตถ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมรภ. กล่าวว่า ตอนยังไม่มีความชัดเจน เข้าใจว่าทุกคนรอให้ป.ป.ช.มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งทราบว่า วันที่ 4 มกราคม 2562 ทางป.ป.ช.จะเชิญ ตัวแทนที่เกี่ยวข้องไปร่วมอภิปรายและเสนอทางออกอย่างเป็นทางการ คาดว่าในส่วนของมรภ. ตนคงเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมอภิปรายในวันดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่า หากป.ป.ช.ยืนยันว่า นายกสภาและกรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ก็มีค่าเท่ากัน คือ จะมีนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ลาออกเกินครึ่ง โดยเฉพาะกรรมการสภาฯ ที่มาจากภาคเอกชน เพราะคงไม่สะดวกที่จะดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนกลัวการตรวจสอบ แต่ต้องยอมรับว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ค่อนข้างยุ่งยากเกี่ยวโยงไปถึงภรรยาและบุตร หากเกิดความผิดพลาดหรือหลงลืมบางส่วนไปอาจมีผลทางกฎหมาย

“เชื่อว่าหากป.ป.ช.ยืนยัน ว่า ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินจริง จะมีกรรมการสภาและนายกสภาฯ จากมหาวิทยาลัยทุกแห่งลาออกมากกว่าครึ่ง ซึ่งในส่วนของมรภ.อุตรดิษถ์เอง มีกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงความประสงค์จะลาออกแล้วประมาณ 6 ราย แต่ชะลอไว้ก่อนเพื่อรอทางออกของป.ป.ช. “นายเรื่องเดชกล่าว และว่า ส่วนกรณีที่นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า มาตรา 44 มีผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการกองทุน แต่สำหรับนายกสภาและกรรมการสภา ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มรภ. 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไปว่าจะต้องยื่นบัญชีหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย แต่โดยหลักแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นม.รัฐ หรือม.ในกำกับรัฐ ก็ควรใช้มาตรฐานทางกฎหมายเดียวกัน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image