ชงกมว.ปลดล็อกตั๋วครูจีน11ม.ค.62  เล็งจัดทำ’มาตรฐานเฉพาะทาง’

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยกรณี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กมว.ไปพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ของครูสอนภาษาจีนใหม่ เพื่อให้ครูที่จบด้านนี้มีมาตราฐานเดียวกันและเป็นที่ยอมรับ ว่า หลังจากมีโครงการยกระดับสมรรถนะนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และกำลังแรงงานในพื้นที่ให้เป็นเลิศด้านภาษาจีน และการศึกษาทางไกลสู่การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสากล ระหว่างศูนย์การศึกษาทางไกลสถาบันขงจื่อ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนในอาเซียน (ประเทศไทย) กับสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ราชนครินทร์ มรภ.เชียงราย มรภ.ลำปาง มรภ.สงขลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน เพื่อรองรับความสามารถวิชาชีพครูภาษาจีนระดับสากล (CTCSOL) และสร้างศูนย์ทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนทางอินเทอร์เน็ตใน 5 มหาวิทยาลัยนั้น ตนได้หารือกับ นพ.อุดม ถึงประเด็นการออกใบอนุญาติประกอบวิชาชีพครู ของครูจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีใบอนุญาตฯ จากประเทศตัวเองอยู่เเล้ว หากครูเหล่านี้ต้องการเข้ามาสอนในประเทศไทย คุรุสภาจะอนุมัติใบอนุญาตฯ ให้สอนในประเทศไทยได้เลย เพราะถือว่าครูเหล่านี้ผ่านการพิจารณารับรองจากประเทศตนเองมาเเล้ว

“แต่การออกใบอนุญาตฯ นั้น จะต้องมีอายุเท่ากับใบอนุญาตฯจากประเทศตนเอง เช่น ใบอนุญาตฯ จากจีน มีอายุ 2 ปี ทางประเทศไทยจะออกใบอนุญาตฯ ให้ 2 ปี เช่นเดียวกับครูไทย ที่ต้องการไปสอนในประเทศจีน หากมีใบอนุญาตฯ จากประเทศไทย ครูเหล่านี้จะได้รับใบอนุญาตฯจากประเทศจีนได้ทันที ถือเป็นผลดีต่อโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่มีโครงการแลกเปลี่ยนครูระหว่างประเทศ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผมจะนำเข้าหารือในที่ประชุม กมว. ในวันที่ 11 มกราคม 2562” นายเอกชัย กล่าว

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมว.วางแผนที่จะจัดทำมาตรฐานวิชาชีพครู ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ประกอบด้วย มาตรฐานวิชาชีพครูทั่วไป มาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวศึกษา และมาตรฐานครูสอนเด็กพิเศษ ซึ่งขณะนี้การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวศึกษา เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนมาตรฐานวิชาชีพครูสอนเด็กพิเศษนั้น อยู่ระหว่างการทาบทามผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษ ที่เป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เข้ามาช่วยเหลือ

“ตอนนี้ผมทราบปัญหามาว่าครูสอนเด็กพิเศษในต่างจังหวัด มีปัญหาในเรื่องการจัดการเรียนการสอนให้เด็กพิเศษเป็นจำนวนมาก ไม่ได้แปลว่าครูไม่ใส่ใจเด็ก แต่สาเหตุมาจากครูเหล่านี้ไม่ได้เรียนจบด้านนี้มาโดยตรงจึงไม่รู้วิธีการดูแล และจัดการเรียนการสอนให้เด็กพิเศษอย่างถูกวิธี จึงต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อน และถือเป็นเรื่องดีที่ผมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของ กพฐ. ด้วย ก็จะเสนอให้ที่ประชุม กพฐ. พิจารณาจัดทำวิดีโอ การสอนเด็กพิเศษให้ครูผู้สอนโดยเฉพาะ และเเจกทั่วประเทศพร้อมกับลงในระบบออนไลน์ เพื่อให้ครูจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กพิเศษอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ต้องมีวิธีการติดตามและตรวจสอบด้วย ซึ่งผมจะให้ศึกษานิเทศก์ลงพื้นที่เข้าไปติดตามตรวจสอบด้วยอีกทางหนึ่ง” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image