เล็งโอนครูเอกชนใช้สิทธิบัตรทอง100% เพิ่มช่องสอน 6 ปีได้‘ตั๋ว’ง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 3 มกราคม  นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์   เรื่องแนวทางบูรณาการการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสพฐ. และผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมหารือแนวทางดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน อย่างเช่นการรับเด็กอนุบาล 3 ขวบหรืออนุบาล 1 ซึ่งเคลียร์ชัดเจนแล้ว ว่า สพฐ. จะเน้นรับอนุบาล2 และ 3 ส่วนอนุบาล 1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รับก่อน  หากสพฐ.จะรับอนุบาล1 เข้าเรียนจะต้องมีความพร้อมและต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังหารือ เรื่องสวัสดิการต่าง  ๆ  โดยเฉพาะสิทธิค่ารักษาพยาบาล ของครูโรงเรียนเอกชน ว่าสามารถเปลี่ยนไปใช้ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพียงอย่างเดียวได้หรือไม่  โดยขณะนี้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิกองทุนสงเคราะห์ ได้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลปีละไม่เกิน  1 แสนบาท แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บป่วยถึงขั้นต้องใช้ครบ 1 แสนบาท มีเพียง 10% ที่เบิกเกิน  ซึ่งในส่วนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบทดลองยืมเงินแล้วมาเบิกภายหลัง เพราะหากจะไปใช้สิทธิบัตรทองทั้งหมด ทางสปสช.และคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งมาว่า ต้องปรับไปใช้สิทธิบัตรทองทุกคน  หากไปใช้สิทธิบัตรทองมีข้อดีคือ ไม่จำกัดวงเงิน แต่จะลำบากตรงขั้นตอนเลือกสถานพยาบาล ซึ่งต้องเป็นไปตามภูมิลำเนา  เชื่อว่าครูส่วนใหญ่คงไม่อยากไป ทั้งนี้ขอให้สช.ไปสำรวจความต้องการของครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งหากเลือกที่จะใช้สิทธิบัตรทอง อาจจะต้องสนับสนุนให้ สปสช.ปีละประมาณ 400 ล้านบาท

“ผมได้ให้นโยบายว่า การจัดการศึกษาจะต้องมีการกำกับดูแล โรงเรียนเอกชนอย่างเป็นมิตร  เพราะถือว่า เอชนมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยทำภารกิจดูแลเด็กทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน ถือเป็น 1 ใน 4 ของนักเรียนขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ ไม่ใช่เอาแต่ควบคุม จนกระทั่งเขาไม่สะดวกในการทำงาน ดังนั้นขณะนี้จึงได้มีการประแก้ระเบียบสวัสดิการต่าง ๆ บ้างแล้ว เพื่อให้การทำงานคล่องตัว อย่างเช่น เรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของโรงเรียนเอกชน   โดยเฉพาะครูต่างชาติ หรือครูที่อาวุโส ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯชั่วคราว  ซึ่งต่ออายุมาแล้วจนครบ 6 ปี แต่กลับไม่มีใบอนุญาตฯ ทำให้โรงเรียนต้องสูญเสียครูดี ๆ เพราะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตฯเนื่องจากติดหลักเกณฑ์การประเมินของคุรุสภา ตรงนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา อยู่ระหว่างการปรับแก้หลักเกณฑ์  แต่ไม่ใช่การให้โดยอัตโนมัติ ต้องมีการประเมิน และโรงเรียนจะต้องเป็นผู้ร้องขอเข้ามา โดยให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เชื่อว่าจะมีทางออกที่ดี”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า  ขณะเดียวกันยังหารือเรื่องการบรรจุครูโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในตำแหน่งครูผู้ช่วยให้เร็ว เพื่อไม่กระทบกับโรงเรียนเอกชน  และการขอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชน  ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งมีแนวทางพิจารณา 2 ทางเลือก คือ  เสนอปรับอุดหนุนรายหัว 100% ใช้งบประมาณ 9,500 ล้านบาท  แนวทางนี้ อาจเป็นภาระงบประมาณในอนาคต ส่วนแนวทางที่ 2 ปรับเพิ่มในส่วนงบสมทบเงินเดือนครู อาจจะใช้เงินเพิ่ม ประมาณ 3,400 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป โดยจะต้องจัดทำรายละเอียด และเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image