ทำเรื่องยากให้ง่าย ในสังคมเสมอหน้า โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ทำเรื่องง่ายให้ยาก” เป็นประเพณีรัฐราชการไทยในวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย เพื่อสร้างอำนาจให้ตนเอง เมื่อคนอื่นอ่านไม่รู้เรื่องก็ยอมจำนนแล้วโมเมเหมายกย่องว่าเป็นความรู้ลึกซึ้งขั้นสูงเหมือนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ภาษาบาลี-สันสกฤต ที่อ่านไม่ได้ เขียนไม่ออก แต่ขลัง เฮี้ยน

จึงมีระยะห่างระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน เหมือนนายกับบ่าวไพร่

ถ้าอยากรู้เป็นยังไง? ให้ดูหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีของทางการไทย

“ทำเรื่องยากให้ง่าย” เป็นประเพณีของสังคมเสมอหน้าในวัฒนธรรมประชาธิปไตยสากล สร้างความเสมอภาคการรับรู้ข้อมูลข่าวสารความรู้อย่างง่ายๆ สั้นๆ กระชับๆ เพื่อ “รู้เขา รู้เรา รู้โลก” แล้วตัดสินใจด้วยตนเองได้

Advertisement

จึงไม่มีระยะห่างระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน หรือถ้ามีก็ไม่มาก แล้วลดได้รวดเร็วเพราะอ่านง่าย เข้าใจไม่ยาก

ยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลี, ไต้หวัน ฯลฯ หรือประเทศก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ว่าทุนนิยม หรือสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เต็มไปด้วยหนังสือ ซิมพลิฟลาย ทำเรื่องยากให้ง่ายเพื่อมวลชนคนอ่านทั่วไป โดยไม่รกด้วยเชิงอรรถ (แต่มีบ้างตรงส่วนสำคัญๆ) เพราะไม่คลั่งฟุตโน้ต

โดยเฉพาะญี่ปุ่น ทำวิชาการทุกอย่างเป็นการ์ตูน อ่านอร่อยสุดๆ

Advertisement

POLITICAL CATOONOMICS [เศรษฐศาสตร์ ฉบับการ์ตูน] ของ ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กับ ศ.ดร.สหรัฐ ผ่องศรี เป็นหนังสือในกลุ่มซิมพลิฟลาย ทำเรื่องยากให้ง่าย ได้สำเร็จอย่างสูงยิ่งพร้อมการ์ตูนลายเส้น

“ได้หมด ถ้าสดชื่น” ผมอ่านรวดเดียวจบเล่มอย่างรื่นรมย์สมอุรา แล้วย้อนกลับอ่านอีกโดยเลือกตอนที่ชอบเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็อยากตะโกนกู่ร้องก้องโลกว่าหนังสืออย่างนี้แหละที่สังคมคนอ่านควรสนับสนุนให้มีมากๆ ในไทย แล้วรีบไปซื้ออ่านโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image