อธิการฯ สจล.ปลื้ม น.ศ.แห่เรียน ‘โหราศาสตร์’ หลังเปิดสอนปีแรก เตรียมเปิดอีก 2 วิชาแปลก

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สจล.อยู่ระหว่างศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากทั่วโลกว่ามีวิชาอะไรบ้างที่น่าสนใจ และควรจะนำมาเปิดเป็นวิชาเลือก เพื่อจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาบ้าง ซึ่งปัจจุบัน สจล.ได้เปิดสอนวิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาศึกษาทั่วไป หรือวิชาเลือก เมื่อปีการศึกษา 2561 เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ และแปลกใหม่ โดยมีสำนักวิชาศึกษาทั่วไป เป็นผู้ดูแลจัดการเรียนการสอน

นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า การจัดการเรียนการสอนวิชาโหราศาสตร์ ถือเป็นกุศโลบายหนึ่งในการดึงนักศึกษาเข้ามาเรียน เพราะวิชานี้จะสอนโดยเน้นเรื่องดาราศาสตร์ หลักวิชาด้านตัวเลข และการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติ พร้อมกับการเรียนเรื่องของทำนายดวงชะตาด้วย เพื่อให้นักศึกษาคิดอย่างเป็นระบบ เพราะหากจะเปิดสอนวิชาดาราศาสตร์เพียงอย่างเดียว คิดว่าจะมีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนน้อย เช่นเดียวกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา ที่เปิดสอนวิชาวูดู เป็นวิชาเลือก เพราะต้องการสอนวิชาประวัติศาสตร์แอฟริกา และวูดูซึ่งเป็นพิธีกรรม หรือไสยศาสตร์แขนงหนึ่งของลัทธิวูดู ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แอฟริกาด้วย หากจะเปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์แอฟริกาเลย คงไม่มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียน

“นอกจากเป็นกุศโลบายให้นักศึกษาเข้าเรียนวิชาดาราศาสตร์แล้ว จะทำให้นักศึกษาสนุกกับการเรียนวิชาเลือก และได้ประโยชน์มากขึ้น การเปิดสอนวิชาโหราศาสตร์ ทำให้นักศึกษารู้จักการนำเสนอ หากสังเกตหมอดูทุกคน จะมีทักษะในการนำเสนอที่มั่นใจ มีวิธีการพูดที่น่าสนใจ ช่วยส่งเสริมทักษะความจำให้นักศึกษา และเสริมสร้างเสน่ห์ให้ตนเองอีกด้วย โดยวิชาโหราศาสตร์นี้เปิดสอนเป็นปีแรก หลังจากเปิดสอนแล้ว พบว่ามีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนจำนวนมาก และยังมีเสียงเรียกร้องจากศิษย์เก่าที่ทราบข่าวว่า สจล.เปิดสอนวิชาดังกล่าว ก็อยากจะกลับเข้ามาเรียนด้วยจำนวนมาก” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า ปีการศึกษา 2562 สจล.วางแผนที่จะเปิดวิชาเลือกที่น่าสนใจอีก 2 วิชา คือ AI กับชีวิตประจำวัน ซึ่งคิดว่า สจล.จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่เปิดสอนวิชานี้ วิชา AI กับชีวิตประจำวัน จะเปิดให้นักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ หรือนักศึกษาสายศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ได้เลือกเรียน โดยจะสอนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในชีวิตประจำวัน และนักศึกษาจะนำ AI มาประยุกต์ใช้ในคณะ สาขา ที่เรียนได้อย่างไร เป็นต้น และวิชา Charming School หรือโรงเรียนเสริมสร้างเสน่ห์ ซึ่งจะเปิดสอนวิชามารยาทพื้นฐานในการเข้าสังคม เช่น มารยาทบนโต๊ะอาหาร การแต่งกายการแต่งหน้า เพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับนักศึกษาที่เข้าเรียน

Advertisement

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ หลักการเปิดหลักสูตรมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนคือ คุณภาพ และต้องตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และสถานประกอบการ มหาวิทยาลัยต้องประเมินให้ดีว่าเปิดแล้วจะมีความคุ้มค่า และมีคนมาเรียนหรือไม่ รวมถึง จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึง ต้องเติมเต็มในสิ่งที่นักศึกษาขาด ไม่ใช่เปิดเพราะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น

“อนาคตข้างหน้า การเรียนในระบบจะลดความสำคัญลง คนจะเรียนด้วยตัวเองมากขึ้นผ่านทางออนไลน์ จะมีเพียงบางส่วนที่ต้องเข้ามาเรียนในสถานศึกษา ดังนั้น การเปิดหลักสูตรจะต้องนึกถึงผู้เรียนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาความต้องการของมหาวิทยาลัย และตอนนี้ตลาดแรงงานมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน เทคโนโลยีมีการขับเคลื่อนไปเร็วมาก การทำงานหลายจุดกลายเป็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้คน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ว่าเราเองต้องเตรียมคนให้เหมาะไปทำงานตรงนั้น เทคโนโลยีมาแทนคนได้บางส่วนแต่ไม่ได้แทนทั้งหมด บางส่วนยังต้องใช้คนคุม ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตรใหม่ ปรับกระบวนการเรียนการสอน ไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งต้องจัดทำหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน มองไปข้างหน้าว่าอนาคตประเทศจะเป็นไปในทิศทางใด” นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า สำหรับหลักสูตรแปลกๆ ที่หลายมหาวิทยาลัยเปิดสอนขณะนี้ เช่น หลักสูตรโหราศาสตร์ คิดว่า คงอยู่ไม่ได้ยั่งยืน มาแบบลมพัดลม บางหลักสูตรไม่จำเป็นต้องเรียนในสถานศึกษา ใครไปเปิดก็จะมีความเสี่ยง สุดท้ายหากเด็กมาเรียนน้อย ก็ต้องปิดตัวลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image