จุฬาฯ เปิด ‘วิชาแพะ-ตั้งไข่ไวยากรณ์’ คนแห่เรียนนับแสน ‘ภาวิช’ ห่วงหน่วยราชการไม่รับวุฒิแปลก

จากกรณีที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนหลักสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาเรียน ขณะที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ห่วงว่าปัจจุบันมีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และอนาคตการเรียนในระบบจะลดลง จึงอยากมหาวิทยาลัยเน้นหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ส่วนหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เช่นหลักสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ สุดท้ายเด็กจะเรียนน้อยลง และต้องปิดตัวไปนั้น

เมื่อวันที่ 7 มกราคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เปิดเผยว่า ถือเป็นเรื่องดีที่มหาวิทยาลัยเริ่มปรับตัวเปิดสอนหลักสูตรใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอยู่แล้ว เพราะถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวต่อไป คงจะอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การเปิดหลักสูตรต้องมีขั้นตอนอยู่ สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ส่วนข้อห่วงใยที่ว่าจะเป็นหลักสูตรประเดี๋ยวประด๋าว ลมเพลมพัด ไม่ต้องห่วง หรือกังวล เพราะขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งก็คือนักเรียน จะเป็นผู้กำหนด เป็นผู้เลือกเรียน และหากหลักสูตรที่เปิดใหม่ไม่มีคนเรียน หลักสูตรเหล่านี้จะหายไปเอง

“แต่ ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องระมัดระวังให้มหาวิทยาลัยทำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การเสนอตั้งหลักสูตรแล้วราคาเล่าเรียนสูงหรือไม่ มีครู หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาสอนหรือไม่ หรือเสนอคอร์สที่พิสดารขึ้นมา เรื่องเหล่านี้ต้องมีหลักสูตรที่เข้าไปตรวจสอบดู หากเกิดอะไรขึ้น สภาต้องรับผิดชอบเบื้องต้นก่อน และการเปิดหลักสูตรในปัจจุบันนั้น นพ.อุดม ได้ผลักดันให้การเปิดหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย สภาสามารถอนุมัติ และเปิดสอนได้เอง ซึ่งต่างจากในอดีตที่กว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดหลักสูตรอะไรได้ ใช้เวลานานมาก” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นายปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามีวิชาจีบ ที่สอนเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ แต่ตั้งชื่อให้ดึงดูดใจผู้เรียนจนเป็นที่ฮือฮา ส่วนช่วงนี้มีวิชาเกี่ยวกับระบบนิเวศต้นน้ำ เป็นวิชาศึกษาทั่วไป นิสิตจากทุกคณะมาลงเรียนได้ ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ เองมองว่าระบบนิเวศเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีความรู้ในเรื่องนี้ ก็จะบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาน้ำท่วม และสภาพเสื่อมโทรมของน้ำ โดยได้เชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้เรื่องนี้ และบุคลากรในจุฬาฯ ที่มีความเชี่ยวชาญมาสอน มีการออกพื้นที่ ให้นิสิตได้เรียนรู้ และเข้าใจระบบนิเวศน์อย่างแท้จริง

Advertisement

นายปมทองกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังพัฒนาวิชาที่เรียนผ่านออนไลน์ เปิดให้ทั้งนิสิตจุฬาฯ และคนทั่วไปสามารถสมัครทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ได้ ขณะนี้มีกว่า 100 วิชา เปิดสอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 70 วิชา มีผู้สมัครเข้าเรียนมากกว่า 1 แสนราย สำหรับวิชาที่เปิดสอนจะมีความหลากหลาย สอนโดยอาจารย์จากจุฬาฯ ในแต่ละคณะ เช่น วิชาแพะ : นวัตกรรมทางระบบสืบพันธุ์ขั้นสูงเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแพะ คณะสัตวแพทยศาสตร์, มหากาพย์ อังกฤษ อัพเกรด ตั้งไข่ไวยากรณ์ เปิดสอนโดยสถาบันภาษา, ทำอย่างไรให้สินค้า Go Inter ขายได้ขายดี และดังข้ามโลก ของคณะนิเทศศาสตร์, การตลาดในศตวรรษที่ 21 การประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ เป็นต้น เมื่อเรียนจบจะประเมินความรู้ผู้เรียน เพื่อรับประกาศนียบัตร โดยผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดความรู้ในขั้นต่อไปหรือ เรียนเพื่อพัฒนาสมรรถนะของตนเองได้ โดยขณะนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนสนใจใช้รายวิชาของจุฬาฯ ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแล้ว

นายปมทองกล่าวต่อว่า ส่วนวิชาการไม่ได้รับความนิยม และมีแนวโน้มจะต้องปิดตัวลงนั้น ยอมรับว่ามีบ้าง แต่ทางจุฬาฯ จะใช้วิธีการควบรวมหลักสูตร และเพิ่มเป็นแขนงวิชา ให้นิสิตได้เลือกเรียน ขณะเดียวกันยังเน้นการพัฒนา และปรับปรุงรายวิชาที่เริ่มล้าสมัยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา หลายคณะควบรวมกันภายในไปบ้างแล้ว เช่น คณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เป็นต้น

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ที่หลักสูตรย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย หลักสูตรไหนป่วยก็ต้องปรับปรุง เพื่อให้ทันต่อยุคสมัย ซึ่งทางจุฬาฯ พัฒนา และปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน” รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

Advertisement

นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า กระแสที่มหาวิทยาลัยต่างๆ นิยมปิดหลักสูตรใหม่ หรือปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แง่หนึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่ มหาวิทยาลัยตื่นตัว พยายามที่จะผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับกับความต้องการของสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปตามแนวทางที่เกิดขึ้นตามกระแสโลก อย่างไรก็ตาม ส่วนที่จะมีปัญหาคือ ภาคส่วนราชการ เพราะงานราชการเป็นงานที่มีรูปแบบตายตัว แต่ละตำแหน่งต่างกำหนดคุณสมบัติผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีว่าต้องจบสาขานี้เท่านั้น หากมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรใหม่ ได้รับวุฒิปริญญาบัตรที่แปลกจากเดิม เป็นการยากที่นักศึกษาเหล่านี้จะนำวุฒิที่ตนจบเข้าไปสมัครเพื่อทำงานอื่นได้

“แต่ข้อสำคัญคือมหาวิทยาลัยต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีการระดมความคิดให้ครบถ้วน ทั้งจากภายนอก และภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเทรนด์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ควรทำแค่หวังผลทางการตลาด เช่น แค่เป็นการเอาหลักสูตรเก่ามาเปลี่ยนชื่อใหม่ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องเกิดขึ้นอย่างจริงจังลงไปถึงทุกองค์ประกอบของหลักสูตร เช่น ต้องมีแนวคิดใหม่ ทฤษฎีใหม่ แนวทางการประยุกต์ใหม่ ที่จะตอบโจทย์ของสังคมได้จริง ที่สำคัญที่สุดคืออาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่นักศึกษาเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องเปลี่ยน ถ้าอาจารย์ยังทำแบบเดิม ใช้ความรู้เดิมที่ล้าสมัย ใช้วิธีการสอนแบบเดิมที่ไม่มุ่งให้นักศึกษาใช้ความคิดวิเคราะห์ ค้นหา และแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีม แสวงหาความรู้ได้เอง และหลักสูตรที่ออกมาใหม่ก็ไม่ตอบโจทย์ ถ้าการวัดผลยังเป็นแบบเก่า จะไม่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความรู้ก็ต้องเปลี่ยน วิธีการจัดการสอนก็ต้องเปลี่ยน การวัดผลก็ต้องเปลี่ยนด้วย” นายภาวิช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image