สพฐ.เตรียมมอบเงินช่วยเหลือให้ ร.ร. ประสบภัยปาบึกโรงละ 5,000 บาท คาด 10 ม.ค.ทุกแห่งเปิดสอนปกติ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหาร สพฐ. ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปาบึก จำนวน 679 แห่ง แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 16 เขต จำนวน 630 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 11 (สุราษฎร์ธานี, ชุมพร) และเขต 12 (นครศรีธรรมราช, พัทลุง) จำนวน 49 แห่ง  และล่าสุดได้รับรายงานว่าวันที่ 8 มกราคม ยังมีสถานศึกษาที่ประกาศปิดการเรียนการสอน 24 แห่ง ส่วนวันที่ 9 มกราคม แจ้งปิด 1 แห่ง และในวันที่ 10 มกราคม จะสามารถเปิดจัดการเรียนการสอนครบทุกแห่ง

นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สพฐ.ได้ปฏิบัติการช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัยพิบัติ พายุโชนร้อน “ปาบึก” ดังนี้ 1. ก่อนที่พายุจะเข้าประเทศไทย สพฐ.แจ้งเตือนการเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์พายุมาโดยตลอด 2.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช่วยเหลือโรงเรียนและนักเรียนที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อน 3.มีคำสั่ง สพฐ. ที่ 23/2562 ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ โรงเรียนและนักเรียนที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยมี นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.), รองเลขาธิการ กพฐ. และผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.เป็นที่ปรึกษา โดยการประชาสัมพันธ์การรับบริจาคสิ่งของและเงินจากหน่วยงานรัฐ เอกชน  และผู้จิตศรัทธา 4.การรายงานสถานการณ์ประจำวัน เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือ 2 ช่วงเวลาต่อวัน ดังนี้ 1 เวลา 09.00 น. และช่วงที่ 2 เวลา 17.00 น. และ 5.การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น คือ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยแบ่งสายลงพื้นที่ และการมอบเงินช่วยเหลือจากบัญชี “รวมน้ำใจสู่อุทกภัยโรงเรียน” ยอดเงิน วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 5,025,967.77 บาท โดยใช้วงเงินการช่วยเหลือ จำนวน 3,395,000 บาท โรงเรียนละ 5,000 บาท จำนวน 679 แห่ง

“นอกจาก สพฐ.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช่วยเหลือโรงเรียนและนักเรียนที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” และ ได้มอบให้ สพป.เขต 1 ของทุกจังหวัด เป็นจุดหลักในการประชาสัมพันธ์และรับบริจาคสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ และส่งต่อไปยังโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ และในระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม สพฐ.จะส่งทีมผู้บริหารระดับสูงแบ่งสายลงพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยอย่างหนัก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อมอบสิ่งของและนำเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ สพฐ.ได้รับบริจาคผ่านบัญชีรวมน้ำใจสู่อุทกภัยโรงเรียน ไปมอบให้ทั้ง 679 แห่ง ทั้งนี้ เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติก็ได้กำชับให้สถานศึกษา สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและรายงานไปยังเขตพื้นที่ฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการจัดสรรงบประมาณลงไปทำการซ่อมแซม อาคาร สถานที่ที่เสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้ตามเดิม ส่วนการสอนชดเชยแก่นักเรียนนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเพราะทุกโรงเรียน ทราบดีว่ากรณีที่ปิดการเรียนการสอนไปจะต้องสอนชดเชยให้ครบด้วย”นายสุรศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image