ม.เอกชนวิกฤต!! คาดปีนี้ยอด น.ศ.ลดฮวบ 30% นายก สสอท.รับเรื่องจริง

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตัวเลขการรับนักศึกษาเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะลดลงประมาณ 10-15% เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง และที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กมีทางเลือกมากกว่าเดิม ขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในต่างจังหวัด บางแห่งคาดว่าจำนวนเด็กจะลดลงมากถึง 30% เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะลดลงมากกว่านี้ ส่งผลให้มีบางแห่งอาจต้องทยอยปรับลดพนักงาน เจ้าหน้าที่ และค่อยๆ ปิดการเรียนการสอนในบางสาขาลง โดยเฉพาะสาขาที่เด็กเข้ามาเรียนน้อย

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แม้จะยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ต้องยอมรับว่า ทุกแห่งขณะนี้มีจำนวนนักศึกษาลดลงเช่นกัน ทางแก้ปัญหาคือทุกคนต้องปรับตัว เน้นผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

“ผมเองย้ำมาตลอดว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และความต้องการของสถานประกอบการ และตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องไปทบทวนตัวเอง หาจุดแข็ง ที่จะส่งเสริม และดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาเรียน อาจมีเพียง 2-3 คณะ ไม่ต้องมาก และเน้นส่งเสริมให้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน สิ่งที่ประเทศชาติขาดแคลนอย่างหนักขณะนี้คือ คนที่มีสมรรถนะสูง ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ดังนั้น การจัดการศึกษา จึงไม่จำเป็นต้องพุ่งเป้าไปที่ตัวนักเรียน นักศึกษาเท่านั้น แต่ควรต้องมองไปถึงกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างแม้จริง” นพ.อุดม กล่าว

นายวัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) กล่าวว่า ยอมรับว่ายอดการรับเด็กของมหาวิทยาลัยเอกชนลดลงจริง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนในต่างจังหวัด ซึ่งจำนวนประชากรน้อยอยู่แล้ว ประกอบกับอัตราการเกิดลดลง ส่งผลให้ตัวเลขเด็กลดลงตามไปด้วย บางแห่งมากถึง 30% เชื่อว่าในปีต่อไปยอดรับเด็กจะลดลงอีก แต่ขณะนี้ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใด แจ้งขอปิดกิจการมาที่ สสอท.หากมีแจ้งมาจริง ขั้นตอนการปิดกิจการต้องเป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเข้าใจสถานการณ์ และปรับบทบาทผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของประเทศ แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาติดขัดบางประการ โดยเฉพาะข้อกฎหมายบางอย่าง ซึ่งอาจจะยังไม่มีความเท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน โดยมหาวิทยาลัยเอกชนเอง เคยมีข้อเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับแก้แล้ว เช่น การเปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image