ดราม่า!! น.ร.แต่งไปรเวต เรื่องเล็กที่ผู้ใหญ่ต้องคิด

กลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หลังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทยที่ประกาศให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ม.6 ใส่ชุดไปรเวตหรือชุดลำลองมาเรียนทุกวันอังคาร เป็นเวลา 1 ภาคเรียน โดยไม่บังคับ ดีเดย์วันแรกเมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มศิษย์และผู้ปกครองบางส่วนที่ห่วงใยเรื่องความเป็นระเบียบวินัย และเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครทำ!!

นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ออกมาชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นการวิจัยศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝ่ายเครื่องแต่งกายที่ไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียนมาเรียนหนังสือ จะส่งผลต่อการพัฒนาของนักเรียนในเชิงสร้างสรรค์อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เป้าหมายเพื่ออยากให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งความสุข เชื่อว่าการใส่ชุดไปรเวตแค่หนึ่งวันของนักเรียนจะสร้างความสุขให้เด็ก มีความคิดสร้างสรรคมและต้องการสะท้อนว่าความแตกต่างของแต่ละคนสามารถอยู่ด้วยกันได้ และหากพบว่าการแต่งชุดไปรเวตมาเรียนแล้วทำให้ผลการเรียนแย่ลง หรือได้รับผลกระทบต่อการเรียนหนังสือก็จะยกเลิกทันที

ทั้งนี้ นายศุภกิจย้ำว่า งานวิจัยนี้คิดถึงบริบทของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯเป็นหลัก หากโรงเรียนอื่นๆ จะทำตามคงต้องดูบริบทของตัวเองเป็นหลัก

Advertisement

ขณะที่สังคมเกิดความกังวลว่า หากแนวคิดนี้กระจายไปในโรงเรียนอื่นๆ จะเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ หากเกิดแฟชั่นในโรงเรียน กระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่จะอาจจะเพิ่มขึ้น

กระทั่งล่าสุด นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) มีหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด โดยห่วงใยเรื่องความมีระเบียบ วินัย ความเรียบร้อย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การดูแลเด็กของครู บริบทของสังคมไทยและปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งโรงเรียนต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และดูความเหมาะสมด้วย

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เหตุที่การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่เห็นผล ส่วนหนึ่งเพราะวิธีคิดและระเบียบต่างๆ ของ ศธ.ที่ไปกดดันไม่ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ให้โรงเรียนทบทวนเรื่องนี้ถือเป็นความล้าหลัง สช.ต้องทบทวนตัวเอง และหากเป็นไปได้ควรสังคายนาระเบียบต่างๆ ที่ไปบีบรัดโรงเรียนและเด็กครั้งใหญ่ อีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าเรากระจายอำนาจให้โรงเรียนแล้ว ก็ควรเคารพการตัดสินใจของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นมติของสภานักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง หากเด็กเห็นว่าการแต่งชุดไปรเวตมาโรงเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน แล้วทำให้เขามีความสุข เกิดรอยยิ้มมากกว่าการถูกตรวจเรื่องการแต่งกายให้ถูกระเบียบ ก็ควรปล่อยให้โรงเรียนได้ตัดสินใจเอง และไม่ควรเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำมาอ้าง เพราะหากมองอีกด้านหนึ่ง เป็นการสอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่น เพราะในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯเอง ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เด็กที่ไม่เห็นด้วยก็ใส่ชุดนักเรียนมาตามเดิม แต่สามารถอยู่ร่วมกับเด็กที่ใส่ชุดไปรเวตมาเรียนได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสอนเด็กอย่างไร อย่าเอาเหตุผลนี้มาปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

ด้าน น.ส.ณัฐธยาน์ บุณยทวีพัฒน์ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่ง เห็นคล้ายกันว่า การที่โรงเรียนดึงเรื่องงานวิจัยการแต่งกายมาเป็นตัววัดพัฒนาการของเด็กถือเป็นเรื่องดี และเรื่องนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ส่วนข้อกังวลเรื่องความมีระเบียบวินัยและความเหลื่อมล้ำ อาจเป็นเรื่องที่สังคมกังวลไปเอง เห็นได้จากต่างประเทศ ที่ขณะนี้เกือบทั้งหมดอนุญาตให้เด็กใส่ชุดไปรเวตมาเรียนแล้ว และถ้าดูบริบทของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ก็ถือว่ามีความพร้อมการเรียนดีหรือไม่ดี มีระเบียบวินัยหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การใส่ชุดอะไรมาเรียนเท่านั้น

ขณะที่เสียงสะท้อนจาก น้องบูม หรือ นายบารมี มงคลกิติกุล นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ บอกชัดว่า หากผู้ใหญ่สั่งยกเลิกการแต่งชุดไปรเวตจริง นักเรียนก็คงเสียใจ เพราะทางผู้ใหญ่เองก็เปิดโอกาสให้แล้ว การแต่งชุดไปรเวตทำให้นักเรียนมีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีความสุข สนใจและรู้สึกอยากมาเรียนมากขึ้น ที่สำคัญคงไม่กระทบกับการเรียน เพราะถึงเราจะใส่ชุดไปรเวต แต่เราก็ใส่มาเรียน รวมถึง
ทางสภานักเรียนเองก็มีการประชาสัมพันธ์ เน้นย้ำว่าจะต้องเป็นชุดที่สุภาพ

งานนี้ทางผู้ใหญ่คงต้องคิดให้ดีๆ ว่าควรจะใช้ข้ออ้างเรื่องระเบียบ ข้อกฎหมายและความเหมาะสม มาปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และความสุขของเด็กๆ หรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image