‘หมอธี’ ให้คะแนน 5 เต็ม 10 หลัง ‘องค์กรหลัก ศธ.’ แท็กทีมร่ายยาวผลงาน 4 ปี

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดแถลงการดำเนินงานกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ  6  ด้าน ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง  2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีผู้บริหาร ศธ. ร่วมแถลง ดังนี้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ. ) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และนางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.  กล่าวว่า ผลการดำเนินงานกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561) มองว่าเวลาประเมินที่ดีที่สุด ให้คนอื่นประเมินดีกว่า จะให้ประเมินตัวเองคงไม่ดี เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะหลอกตัวเองได้ ส่วนตนนั้น พอใจผลงาน 4 ปีที่ผ่านมา ของ 5 องค์กรหลักใน ศธ. อย่างที่ตนเคยพูดมาตลอดว่า ศธ.มีปัญหามานานและสะสม การที่ ศธ.เริ่มต้นปฏิรูปด้วยสภาพที่ถูกมองในแง่ลบ และพยายามที่จะไปเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนนั้น ลักษณะแบบนี้ไม่เวิร์กในการปฏิรูปการศึกษา เพราะการปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มว่าเราอยู่ที่ไหน และขยับไปทีละนิด ทำเป็นขั้นตอน ซึ่งการที่ 5 องค์การหลัก ศธ. ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ตนก็พอใจ เพราะยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ไม่ว่ารัฐบาลไหนทำตาม จะครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง ทรัพยากรมนุษย์ เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก เรื่องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และเรื่องปฏิรูประบบราชการ ถ้ามองให้ดี ศธ.ทำครบ แต่ครบหมดหรือไม่ อยู่ที่มุมมองการประเมินของคนที่มองเข้ามา

“ส่วนจะให้คะแนนเท่าไหร่กับผลการทำงานของ ข้าราชการที่ทำงานมา 4 ปีนี้ จากเต็ม 10 คะแนน ผมให้เกิน 5 คะแนน แต่บางเรื่อง เช่น คูปองพัฒนาครูให้ 8-9 คะแนน เรื่องส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ หรือ E to E ผมมองว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ให้ 6-7 คะแนน ภาพรวมทั้งหมด ผมว่าเกินครึ่งแน่นอน อีกเรื่องที่พอใจมากคือ ธรรมาภิบาล ผมมองว่ายุคนี้สังคมช่วยเราเยอะ เป็นยุคที่มีการโกงที่ได้รับการ สะสาง และป้องปรามมากที่สุดยุคหนึ่ง ทุกอย่างตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่ผมพอใจ เรื่องโกงไม่ใช่ผลงานชิ้นโบแดง แต่เป็นผลงานที่ประชาชนพอใจ นอกจากนี้ในยุคนี้ มีผู้หญิงเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศอีกทางหนึ่งด้วย”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นายการุณ กล่าวว่า สป.ศธ.ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน สป.ศธ.ได้วิเคราะห์การดำเนินงานที่ผ่านมาว่าได้ทำอะไรบ้างและจะทำอย่างไรต่อไป สป.ศธ. มีหน่วยงานในสังกัด 3 หน่วยงาน ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ขับเคลื่อนโครงการ กิจกรรมสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ปีละประมาณ 1 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 211,038 คน กลุ่มประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน 97,368 คน กลุ่มทหารกองประจำการ 59,134 คน กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ 29,807 คน กลุ่มผู้พิการ 10,187 คนกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกร ชาวไทยภูเขา อสม. ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ และอื่นๆ อีกประมาณ 543,073 คน นอกจากนี้สป.ศธ. ร่วมกับ กศน. สำรวจข้อมูล พบว่ามีประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาและต้องดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวน 470,591 คน

Advertisement

“และในส่วนสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  ออกกฎระเบียบการประเมินวิทยฐานะจากเดิมที่ประเมินจากเอกสารผลงานวิชาการเปลี่ยนมาเป็นการประเมินที่เน้นการปฏิบัติงานในหน้าที่รับผิดชอบและผลงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมจัดอัตรากำลังทดแทนผู้เกษียณอายุราชการในปี 2560 จำนวน 24,160 อัตรา และปี 2561จำนวน 25,160 อัตรา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู” นายการุณ กล่าว

นายสุภัทร กล่าวว่า ขณะนี้ สกศ. และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มีนพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ได้เข้ามาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งการทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในอนาคตข้างหน้า การเรียนจะเปลี่ยนไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา อาจจะไม่ต้องเข้าเรียนในห้องเรียนหรือสถานศึกษาตลอดเวลา แต่สามารถเรียนได้ทุกที่  ดังนั้นในอนาคตอาจจะมี “ธนาคารหน่วยกิต” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าศึกษา เรียนในวิชาที่ตนสนใจ พร้อมสะสมหน่วยกิตไว้เพื่อต่อยอดได้

Advertisement

นายสุเทพ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพประจำอำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพนับ 1 ล้านคน และเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเทียบกับสายสามัญแล้วเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 11.25 เป็น ร้อยละ 20 และในปัจจุบันมีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ : สายสามัญ เป็น 39.70% : 60.30%  และในปีการศึกษา 2562 มีเป้าหมายการรับนักเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นเป็น 45%

“นอกจากนี้ เรื่องการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาท ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีการคัดกรอง นักเรียน นักศึกษา กลุ่มเสี่ยง สร้างภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาท ปัจจุบันมีสถิติเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีสถิติดังนี้ 2557 จำนวน 245 ครั้ง 2558 จำนวน 168 ครั้ง 2559 จำนวน 6 ครั้ง 2560 จำนวน 21 ครั้ง 2561 จำนวน 6 ครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายสุเทพ กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน โดยคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ เงื่อนไขของเวลา และความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่ง ใน 4 ปี ของรัฐบาลนี้ สพฐ.มั่นใจว่ามีความคืบหน้าด้านการดำเนินงานอย่างมาก ในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ สพฐ.สร้างความเท่าเทียมกัน โดยการจัดปัจจัยพื้นฐานที่เหมือนกัน คือโครงการโรงเรียนประชารัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School เป็นต้น

“มีโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร มีข้าราชการครูที่ได้รับการพัฒนา 360,175 ที่นั่ง และมีครูที่ได้รับการพัฒนาแล้ว 274,264 คน โดยผลประเมินความพึงพอใจหลังเข้ารับการอบรมสูงถึง 4.21 หรือคิดเป็น 84.11% โครงการศูนย์พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หรือ Boot Camp มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวไทย ส่งผลให้ครูสามารถสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทยได้ดีขึ้น อีกด้วย” นายบุญรักษ์ กล่าว

นางอรสา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี สกอ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้สนองนโยบายรัฐบาลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้สนับสนุนความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้ทุนเพื่อพัฒนาอาจารย์และบุคลากรสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่องทุกปี และทุนอุดมศึกษาพัฒนาภาคใต้กว่า 5,138 ราย ในจำนวนนี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 2,649 ราย ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ผ่านรายวิชาออนไลน์ Thai MOOC จำนวน 300 รายวิชา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำมากกว่า 40 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้เรียนมากกว่า 65,000 คน ผ่าน www.thaimooc.org

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image