‘ศธจ.ปทุมฯ’ แจ้งความเอาผิด ‘ร.ร.เอกชน’ ออกวุฒิปลอม-สอนผิดกม.

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยกรณีได้รับข้อมูลว่ามีโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอน โดยไม่มีการลงทะเบียนนักเรียนในระบบและมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และเมื่อวันที่ 8 มกราคม ได้รับการประสานจาก ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ปทุมธานี ขอให้ สช. ช่วยส่งนิติกรเป็นกรรมการในคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง และทาง ศธจ.ปทุมธานี แจ้งให้โรงเรียนเอกชนยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวแล้วนั้น ว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รับนักเรียนได้ไม่เกิน 900 คน เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2549 และในปีการศึกษา พ.ศ.2558 โรงเรียนเอกชนดังกล่าวได้ดำเนินการเปิดโครงการ รับเด็กและเยาวชน หรือประชาชนที่เรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าเรียน ไม่ถูกต้อง คือรับนักเรียนแล้วไม่ทำการสอนตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตออกเอกสารหลักฐานการศึกษาให้นักเรียนไม่ถูกต้อง เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองและนักเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน

“ผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า โรงเรียนเอกชนแห่งนี้ไม่ได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาต เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียน และผู้ปกครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ออกหลักฐานทางการศึกษา ไม่ตรงกับความเป็นจริง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีมติ ดังนี้ ให้ ศธจ.ปทุมธานี ในฐานะที่เป็นผู้อนุมัติและอนุญาตเกี่ยวกับงาน สช.ในภูมิภาค เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับใบอนุญาต ผู้เกี่ยวข้อง กรณีจัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษาอันเป็นเท็จและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ดำเนินการแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอหนองเสือ ในวันนี้” นายชลำ กล่าว

นายชลำ กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาโทษตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 คือ การจัดการเรียนการสอนไม่ตรงตามหลักสูตรมีความผิดตามมาตรา 20 (2) และมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 132 การเปลี่ยนแปลงระเบียบการของโรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตามมาตรา 19 (3) และมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 131 นอกจากนี้คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดผลกระทบต่อผู้เรียนและจะดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือ โดยประสานงานกับ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในการจัดการศึกษานอกระบบให้กับนักเรียนจนจบหลักสูตร

“ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้โรงเรียนเอกชนในสังกัด กระทำความผิดลักษณะนี้อีก โรงเรียนต้องรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง มันเป็นจิตสำนึกของคน เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะบกพร่องด้วยนโยบาย หรือเกิดช่องว่างที่ให้โรงเรียนสามรถทำได้ และในเร็วๆนี้ ผมจะส่งหนังสือไปยัง ศธจ.ทุกจังหวัด ให้ช่วยสอดส่องดูแลด้วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ด้วย” นายชลำ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีผู้จบการศึกษาในโครงการนี้กว่า 4,000 คน บางรายนำวุฒิไปสมัครเรียนต่อ สมัครงาน จะหาทางช่วยเด็กเหล่านี้อย่างไร นายชลำ กล่าวว่า ตนข้อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จำนวนยอดนักเรียนที่จบไป มีจำนวนเท่าใด ส่วนนักเรียนที่จบการศึกษาไปแล้วหากพบว่าเป็นวุฒิการศึกษาปลอมจะทำอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการมาดูข้อมูลว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร ต้องว่ากันไปตามสภาพ ดูพฤติการณ์แห่งความผิดและต้องดูเป็นกรณีไป หากมีการทำวุฒิปลอมจริงหรือทำวุฒิปลอมหากตรวจสอบพบ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ความเห็นส่วนตัวของตนต้องดูว่า นักเรียนถูกหลอกหรือไม่ หรือนักเรียนรู้อยู่แล้วแต่ตั้งใจมากระทำความผิดด้วย ต้องดูเป็นกรณีไป

“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่ามีจำนวนเด็กที่จบเท่าไหร่ เพราะต้องไปเอาหลักฐานของโรงเรียนด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้หลักฐานมาทั้งหมด และข้อผิดพลาดนั้นมีกี่กลุ่ม มีกี่ประเด็น มีนักเรียนที่ได้รับวุฒิการศึกษาถูกต้องบ้างหรือไม่ หรือคละเคล้ากันไป ต้องตรวจสอบดูเพราะโรงเรียนทำเป็นโครงการ และหากมีการปลอมวุฒิจริงคนที่นำไปใช้มีความผิดหรือไม่ มีความผิด แต่ต้องดูเหตุดูผลด้วย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานอยู่” นายชลำ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image