ก.ค.ศ.เร่งถกก.พ.แก้กฎหมาย ขยายเวลาเกษียณครูมี.ค.

เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีแนวคิดขยายเวลาเกษียณอายุราชการของครูจากเดือนตุลาคม ไปเป็นเดือนมีนาคม เพื่อให้ครูอยู่สอนเด็กจนจบภาคการศึกษานั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะจะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์โดยตรง เนื่องจากแต่ละปีมีครูเกษียณอายุราชการประมาณ 20,000 คน บางโรงเรียนใช้เวลาค่อนข้างนานในการหาครูมาทดแทนทำให้เด็กเคว้งคว้าง และการบรรจุครูบางพื้นที่ใช้เวลานาน มีผลต่อคุณภาพการเรียนของเด็ก เช่น เมื่อได้ครูใหม่เข้ามา ครูและเด็กก็ต้องใช้เวลาปรับตัว การเรียนไม่ต่อเนื่องเกิดเป็นสุญญากาศในช่วงรอยต่อ ขณะที่บางโรงเรียนใช้วิธีจ้างครูอัตราจ้าง มาสอนแทนในช่วง 3-6 เดือน โดยใช้งบประมาณของตัวเอง แต่ก็ไม่ทำให้การเรียนเกิดความต่อเนื่อง

“เรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาที่รับรู้กันมาน โดยจากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ พบว่า ช่วงเดือนกันยายนซึ่งตรงกับการเกษียณอายุราชการ โรงเรียนต่าง ๆ จะเกิดปัญหาขาดครู โดยเฉพาะขาดครูผู้สอนให้เกิดความต่อเนื่อง ส่วนตัวจึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข แต่อุปสรรคสำคัญคือ จะต้องไปปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายฉบับ โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือนครูที่จะต้องจ้างต่ออีก 6 เดือน งบประมาณในส่วนนี้ใครจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ”นายสมพงษ์กล่าว

ด้านน.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางก.ค.ศ. อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2551 ซึ่งใช้ในการดูแลข้าราชการทั้งระบบ ดังนั้นทางก.ค.ศ.จะต้องจัดทำรายละเอียดและเสนอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณา เพราะหากมีการขยายเวลาให้ครูเกษียณอายุราชการในเดือนมีนาคมจะเกี่ยวข้องกับเรื่องประมาณ ที่ต้องใช้จ่ายเงินเดือนครูต่อเนื่องอีก 6 เดือน ซึ่งทางศธ. เองอาจต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน ทั้งตัวเลขจำนวนผู้เกษียณในแต่ละปี ผลกระทบต่าง ๆ โดยอาจจะเสนอทางเลือก โดยดูความต้องการครูเป็นรายวิชา หรือช่วงชั้น เพื่อเสนอให้ทางก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image