‘เวิลด์แบงก์’ ชงควบรวม ร.ร.เล็กเหลือ 1.7 หมื่นแห่ง

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง ความเหลื่อมล้ำกับคุณภาพการศึกษาโดยนายดิลกะ ลัทธิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานและลดการสิ้นเปลืองของงบประมาณ ซึ่งใช้ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่าค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากผลการประเมินผู้ในเรียนในระดับชาติและการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 20% ของประเทศและครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% ของประเทศ ก็มีแนวโน้มแย่ลงเกิดช่องว่าง ในเรื่องคุณภาพการศึกษาที่มีความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ พบว่าความไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยจะเกิดในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถมศึกษา ที่มีสัดส่วนนักเรียนต่อครู อยู่ที่ 17:1 ซึ่งใกล้เคียงประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฯลฯ แต่การบริหารจัดการทรัพยากรครู และสถานศึกษาไม่สามารถกระจายไปสู่ห้องเรียนได้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเรามีห้องเรียนขนาดเล็กจำนวนมากเกินไป

นายดิลกะกล่าวต่อว่า  ในอนาคตอัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลให้จำนวนเด็กลดลงเรื่อยๆ ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ และมักได้รับการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอ และนักเรียนด้อยโอกาสส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ยิ่งส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกงาน ซึ่งวิจัยของธนาคารโลก แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า การขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสและเป็นปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่มีสูงในระบบ ซึ่งถ้าจะจัดสรรครูและทรัพยากรให้เพียงพอกับทุกห้องเรียนต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และหากมีห้องเรียนจำนวนมากเช่นปัจจุบันก็จะให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้น

“แนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือ สพฐ.ควรควบรวมโรงเรียนตามแผน จะสามารถลดจำนวนโรงเรียนจาก 30,506 โรงเรียนเหลือ 17,766 โรงเรียน ห้องเรียนจาก 344,009 ห้องเหลือ 259,561 ห้อง ตรงนี้ยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากรได้ด้วย เพราะครูจะลดลงจากเดิมที่มีครูประมาณ 475,717 คน เหลือเพียง 373,620 คน ซึ่งหากทำได้ตามโมเดลดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างมหาศาล ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการลดจำนวนโรงเรียนประถมศึกษาลงจาก 20,990 แห่ง เหลือ 8,382 แห่ง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลได้มากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี เฉพาะจากเงินเดือนครู หรือคิดเป็นเงิน 7,150 บาทต่อนักเรียนต่อปี อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่ามาตรการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้แก่ผู้เรียนเป็นอย่างมาก โดยจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป”

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า สกศ.จัดการประชุมวิชาการต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่ถูกนำไปผลักดันจนเห็นผลเชิงนโยบายหรือถูกนำไปกำหนดเป็นมาตรการเสริมในทางปฏิบัติ สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำถูกพูดถึงอย่างมากใน 4-5 ปีมานี้ในหลากหลายมิติของสังคมไทย เฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสนี้ได้นำเสนอความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางแก้ไข ซึ่งวิธีการแก้ไขเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเท่าเทียมกันอาจเป็นไปได้ยาก แต่การสร้างโอกาสเพื่อให้ทุกคนได้รับคุณภาพทางการศึกษาเท่าเทียมสามารถทำได้ ทั้งนี้ ข้อเสนอของธนาคารโลกให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ใช่เรื่องใหม่และ ศธ.มีการดำเนินการมา แต่เป็นการศึกษาวิจัยที่ทำให้สามารถเห็นภาพและผลเชิงการบริหารจัดการที่ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติการจะดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กยังต้องได้รับการยอมรับในพื้นที่ ดูข้อกฎหมายต่างๆ แต่ท้ายที่สุดต้องคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยตนจะนำรายงานของธนาคารโลกเสนอให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image