ซึ้ง ! อาจารย์ศิลปากร ครวญบทกวีถึง “อวโลกิเตศวร” พ้อหน่วยงานเมินทวงคืน “โพธิสัตว์ประโคนชัย”

ภาพจากเฟซบุ๊ก Kang Vol

กรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรม ศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนว คิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่ พักและร้านค้า กระทั่งมีการเสวนาเรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้งกำลังจะมีงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัยมรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. นี้ ซึ่งจัดโดยคณะโบราณคดี ม.ศิลปากรนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.กังวล คัชฌิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญจารึกเขมรโบราณ ได้โพสต์ภาพพระเนตรของประติมากรรมโพธิสัตว์ พร้อมแต่งบทกวีในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหากล่าวถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรซึ่งอยู่ต่างประเทศ โดยตั้งคำถามว่า อยากบอกหรือตัดพ้อหน่วยงานใดหรือไม่ ที่ไม่สนใจนำพระองค์กลับคืนมา นอกจากนี้ยังระบุว่า รอให้คนไทยพร้อม และตระหนักถึงคุณค่า สัญญาว่าจะเชิญกลับสู่เมืองไทย และปิดท้ายถึงการร่วมรณรงค์ “มาตุภูมินิวัติ พระโพธิสัตว์กลับเมืองไทย” อีกด้วย

บทกวีมีดังนี้

อยากจะบอกอะไรบ้างไหมท่าน
ดูร้าวรานเศร้าเศร้าเหงาไปไหม
หรืออยากพ้อต่อว่าหน่วยงานใด
ไม่สนใจถามไถ่ท่านกลับมา

ขอเข้าใจ ทางไกล ต้องตั้งหลัก
รอคนไทย พร้อมพรัก ตระหนักค่า
สักวันหนึ่ง พร้อมเมื่อไหร่ ให้สัญญา
จะเชิญท่าน กลับมา สู่เมืองไทย

ร่วมรณรงค์..
“มาตุภูมินิวัติ พระโพธิสัตว์กลับเมืองไทย”

Advertisement

ทั้งนี้ ผศ.ดร. กังวล ยังเป็นหนึ่งในวิทยากรที่จะร่วมเสวนาเรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัยมรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. นี้ ที่ห้องประชุม 305 ม.ศิลปากรวังท่าพระ ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.

ประเด็นสำคัญในวันเสวนา ได้แก่ ความสำคัญของประติมากรรมสำริดกลุ่มนี้ในด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ ศาสนา และโบราณโลหกรรม, สถานที่ค้นพบและเรื่องปกติ-ผิดปกติของการค้นพบ, แนวทางการพิสูจน์ของจริง-ของทำใหม่, กฎหมายและบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งเสียงเรียกขานจากภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมงาน(ฟรี)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image