ปรับเปลี่ยน Culture สู่วัฒนธรรม

วัฒนธรรม คำนี้เป็นกระแสของสังคมที่ไหลเชี่ยวกรากในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีบทบาททางการเมืองการปกครอง เช่น รัฐบาลออก พ.ร.บ.บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2483 และ พ.ร.บ.บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 จนทางราชการได้เปิดสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น

นอกจากนั้นรัฐบาลได้ปฏิรูปสังคมด้วยวัฒนธรรม เช่น ทุกคนออกจากบ้านต้องสวมหมวก “ยุคมาลานำไทย” เลิกนุ่งโจงกระเบนมานุ่งผ้าถุง เลิกกินหมากเลิกกินพลู เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ที่นำมาให้คนไทยปฏิบัติเพื่อให้คนไทยเป็นผู้มีวัฒนธรรม ความหมาย และความเป็นมาคำนี้เป็นอย่างไร ผู้นำจึงนำมาเป็นนโยบายบริหารประเทศ

วัฒนธรรม ไทยบัญญัติศัพท์คำนี้มาจากคำว่า culture (คัลเชอร์) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีหลายนัยยะ เช่น วิถีชีวิต (way of life) ศิลปะ (art) การเติบโต (grown) เป็นต้น เมื่อนำคำนี้มาใช้ช่วงแรกๆ ก็ใช้ว่า culture ทับศัพท์ เพราะยังไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์คำนี้เป็นภาษาไทย

ด้วย พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (Francis H. Giles) ได้แสดปาฐกถาเรื่อง การศึกษาเกี่ยวกับจรรยาและศาสนา เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2473 ที่สามัคยาจารย์สโมสร ก็ได้กล่าวคำว่า culture ในครั้งนั้นด้วย ต่อมา พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร) ทรงแปลการบรรยายในครั้งนั้นว่า culture คือ ภูมิธรรม (ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้นิยาม ภูมิธรรมว่า พื้นจิตใจที่มีคุณธรรม) ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2474 มีการพิมพ์ปาฐกถาใหม่เป็นครั้งที่ 2 หม่อมเจ้าวรวรรณไวทยากร วรวรรณ (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ได้ทรงช่วยตรวจแก้ ก็ยังคงใช้ว่าภูมิธรรมอยู่ตามเดิม

Advertisement

ต่อมาหม่อมเจ้าวรวรรณไวทยากร ทรงพิจารณาเห็นว่าคำภูมิธรรมนั้น มีความหมายไม่ครอบคลุมถึงศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลออกมา และห่างไกลกับความหมายเดิม จึงคิดคำ “พฤทธิธรรม” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้นิยามว่า ความเจริญ ความมั่งคั่ง, ความสมบูรณ์, ความอวบ พฤฒิ ก็ใช้) ขึ้นใช้แทน ก็ไม่มีใครใช้ตาม จนวันหนึ่งได้ทรงคิดคำว่า “วัฒนธรรม” ออกมา ก็เลยรับกัน ดังคำกราบบังคมทูลในเหตุการณ์ต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 (ต่อมาวันนี้คือวันภาษาไทยแห่งชาติ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริ “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ กราบบังคมทูลถึงวิธีบัญญัติศัพท์ว่า

“การบัญญัติศัพท์นั้น จะใช้วิธีบังคับไม่ได้ เพราะว่าภาษามีชีวิตชีวาของเขาเอง ซึ่งทางหลักภาษาศาสตร์ฝรั่ง เรียกว่า genius of the language ‘อัจฉริยลักษณ์ของภาษา’ แต่ละภาษาก็มีอัจฉริยลักษณ์ของตน คำว่าอัจฉริยลักษณ์ มีเสียงไม่เพราะเลย คำนี้ไม่ใช่ของข้าพระพุทธเจ้า เขาใช้กันมา เรียกตามที่เขาใช้กันมา ฉะนั้น ผู้ที่จะคิดศัพท์ขึ้น หรือตั้งศัพท์ขึ้น จะต้องให้เหมาะแก่ที่ genius of the language จะรับรอง เพราะฉะนั้น บางทีก็ไม่รับเอา ข้าพระพุทธเจ้าจะให้ตัวอย่าง เช่น คำว่า culture ทีแรกไปคิดทางสันสกฤต ออกมาว่า พฤทธิธรรมก็ไม่มีใครตาม เพราะว่าเสียงไม่เข้าจังหวะกับภาษาไทย เพราะฉะนั้น genius of the language ก็ไม่รับ วันหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าเขียนว่า ‘วัฒนธรรม’ ออกมา จังหวะเหมาะสมกับคำในภาษาไทย เพราะฉะนั้น ก็เลยรับกัน”

Advertisement

เมื่อประชาชนนิยมใช้คำว่าวัฒนธรรมกันทั่วไป เสด็จในกรมทรงอธิบายความหมายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้ คำว่า วัฒนธรรมนี้ ได้ผูกขึ้นเพื่อให้มีความหมายตรงกับคำว่า culture คำว่า culture ตรงมูลศัพท์หมายความว่า เพราะปลูกให้งอกงาม เป็นการแสดงถึงความเจริญงอกงาม ซึ่งเปรียบได้กับการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ให้งอกงาม ผลิดอกออกผลเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในอันจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้ ไม่ว่าในทางกาย เช่น การใช้บริโภค หรือใช้ประกอบทำสิ่งของเครื่องใช้ที่มนุษย์จะใช้ได้ หรือทางใจ เช่น การชมในฐานที่เป็นสิ่งเจริญตาเจริญใจ เป็นต้น และการเพาะเลี้ยงสัตว์ให้เจริญงอกงามก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงอยู่รวมกันในภาคความคิดของคำว่า culture นี้ด้วยเหมือนกัน

ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรม และสภาวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศขึ้น เพื่อขอขยายความเข้าใจในงานส่งเสริมวัฒนธรรมไปยังประชาชนไทยทุกภูมิภาค จนประชาชนมีความตระหนัก มีความรู้ในความสำคัญของวัฒนธรรมชาติ และความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น กระทั่งมีความเจริญงอกงามทางกาย และทางจิตใจ องค์การ และหน่วยงานต่างๆ ได้นิยามคำวัฒนธรรมไว้เพื่อเป็นกรอบแนวความคิด และปฏิบัติงาน ดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นิยามไว้ว่า “สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย, วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา”

พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 นิยามไว้ “วิถีการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม จารีตประเพณี พิธีกรรม ภูมิปัญญา ซึ่งกลุ่มชน และสังคมได้ร่วมกันสร้างสรรค์ สั่งสม ปลูกฝัง สืบทอด เรียนรู้ ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ทั้งด้านจิตใจวัตถุอย่างสันติสุข และยั่งยืน”

พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 นิยามไว้ว่า

“แบบแผนการดำเนินชีวิต และขนบประเพณีของแต่ละสังคม (ปาก) ความมีระเบียบ, ความสวยงาม, ความเจริญ”

“วัฒนธรรม” คำนี้ปัจจุบันทุกคนรับทราบว่า คือคำภาษาไทย มีผู้ใช้กันทั่วไป ทั้งทางวิชาการ และชาวบ้าน การรับรู้ และเข้าใจนัยยะของคำนั้น ยากจะประเมินได้ว่าใครเข้าใจเพียงใด เพราะนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image