บิ๊ก สพฐ.เชื่อตัด 3 ข้อรับ น.ร.เงื่อนไขพิเศษ ปิดช่องรับแป๊ะเจี๊ยะ ผอ.บดินทรฯ ชี้ทุก ร.ร.พร้อมปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ที่ประชุม กพฐ.มีมติแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562 ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีมติรับทราบ โดยคณะกรรมการ กพฐ.มีมติให้ยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และกำหนดให้โรงเรียนต้องรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคนนั้น สพฐ.และ ป.ป.ช.ได้หารือร่วมกันตลอดถึงแนวทางการปรับเกณฑ์ เพื่อป้องกันการรับทรัพย์สิน และประโยชน์ตอบแทน จากการรับสมัครเข้าเรียนในโรงเรียน สพฐ.และเมื่อที่ประชุม กพฐ.มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับนักเรียน กรณีนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งเดิมการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษมี 7 ประเภท ลดเหลือ 4 ประเภท ซึ่งข้อที่ถูกตัดออก 3 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และ 3.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

“ผมคิดว่าข้อที่เป็นปัญหาในการเรียกรับผลประโยชน์ และเรียกรับเงิน ได้ถูกตัดออกไปแล้ว คาดว่าปีการศึกษา 2562 แป๊ะเจี๊ยะจะเป็นศูนย์ หรือถ้ามีก็จะมีส่วนน้อย” นายสนิท กล่าว
นายสนิทกล่าวอีกว่า ส่วนข้อกำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคน ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนว่ามีแผนการรับนักเรียนอย่างไร เช่น โรงเรียนมีแผนการรับนักเรียนชั้น ม.4 น้อยกว่าจำนวนนักเรียนชั้น ม.3 ที่มีอยู่เดิม โรงเรียนจะต้องคิดหารือถึงการดำเนินการว่าทำอย่างไรได้บ้าง หรือถ้านักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ได้ทุกคน และจำนวนยังไม่ครบตามแผนรับนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสามารถเปิดรับเพิ่มได้

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ.กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเหลือเพียง 4 ประเภท เป็นการป้องกันการรับแป๊ะเจี๊ยะให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตัดข้อที่ให้รับนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อนี้เดิมคือการให้เงินกับโรงเรียน หากผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ตรงไปตรงมา นำเงินไปใช้อย่างอื่นที่ไม่ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียน หรือแม้ทางโรงเรียนจะออกใบเสร็จให้อย่างถูกต้อง ก็ถือเป็นความไม่เสมอภาค และความไม่เท่าเทียมกัน

“ส่วนการรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคนนั้น หากแผนการรับนักเรียนชั้น ม.4 มีน้อยกว่าชั้น ม.3 ที่มีอยู่เดิม จะแก้ไขอย่างไร ผมคิดว่าโรงเรียนยื่นเรื่องขอขยายห้องเรียนมาให้ สพฐ.พิจารณาได้ แต่เชื่อว่าเรื่องลักษณะนี้จะมีน้อย เพราะส่วนใหญ่แล้วจำนวนห้องเรียนกับจำนวนนักเรียนชั้น ม.3 และชั้น ม.4 จะมีเท่ากัน ผมคาดว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรวเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การรับนักเรียนใหม่จะป้องกันปัญหาแป๊ะเจี๊ยะได้หรือไม่ ตนขอดูรายละเอียดของประกาศกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียนใหม่รับให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งก่อน ถึงจะตอบได้ เพราะต้องดูถึงรายละเอียดว่าปรับแก้อะไรบ้าง และเมื่อ สพฐ.ออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ออกมา ตนพร้อมจะเรียกคณะกรรมการสถานศึกษาเข้ามาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อประกาศให้ผู้ปกครองทราบต่อไป เชื่อว่าทุกโรงเรียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมปฎิบัติตามที่หลักเกณฑ์ที่ออกมาแน่นอน

ด้านนายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ในส่วนการเรียกเก็บเงินของโรงเรียนเอกชน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.โรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ โรงเรียนเหล่านี้จะมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน จากผู้ปกครอง ซึ่งจะเก็บเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารโรงเรียนที่จะตกลงกันว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสม ฉะนั้น แต่ละโรงเรียนจะมีความหลากหลายในการเรียนเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนต้องแจ้งให้ สช.ให้รับทราบในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนด้วย หากโรงเรียนเรียกเก็บมากเกินจนเป็นภาระผู้ปกครอง สช.สามารถให้คำแนะนำได้

“โรงเรียนเอกชนมีอิสระในการบริหารงาน ไม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐ ที่รัฐบาลจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้ทุก ถ้าเรียกเก็บก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแป๊ะเจี้ยะ หรือการเก็บเงินนอกระบบ” นายชลำ กล่าว

Advertisement

นายชลำกล่าวอีกว่า และ 2.โรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ โรงเรียนเหล่านี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนได้ไม่เกินเพดานมาตรฐานที่ สช.กำหนด เช่น สช.กำหนดเพดานมาตรฐานไว้ 15,000 บาท แต่รัฐให้เงินอุดหนุนประมาณ 10,000 กว่าบาท แต่เงินส่วนที่เหลือเป็นเงิน 4,000 กว่าบาท โรงเรียนเรียกเก็บเป็นค่าธรรมเนียมการเรียนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถเรียกเก็บเงินค่าอื่นๆได้ เช่น ค่าธรรมเนียมสำหรับจัดกิจกรรมเพิ่มเติม แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งในคณะกรรมการบริหารจะมีตัวแทนผู้ปกครองอยู่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image