การศึกษาไทยกับชุดไปรเวท

หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับการทดลองให้นักเรียนใส่ ชุดไปรเวท มาโรงเรียนทุกวันอังคาร ของ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยเริ่มในวันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นวันแรก ปรากฏว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อหลายแขนง โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียนั้น มีการแชร์ และแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยแต่ละฝ่ายก็ได้ยกประเด็น และเหตุผลขึ้นมาคัดง้างกันอย่างน่าสนใจ

ผมได้ติดตามข่าวนี้อยู่ตลอด จนกระทั่งมีความคิดเห็นของ คุณศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ได้แสดงทัศนะที่น่าสนใจว่า “นโยบายดังกล่าวนี้ ถือเป็นนโยบายที่ทางคณาจารย์ และผู้บริหารเห็นพ้องเพื่อเป็นการทดลองเท่านั้น ไม่ได้มีการบังคับเด็กว่าต้องแต่งชุดไปรเวท ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ แต่ก็ให้อยู่ในขอบเขตความเหมาะสม ชุดไปรเวทต้องเป็นชุดที่สุภาพ ไม่ใช่แต่งอะไรมาก็ได้ โดยโรงเรียนจะทดลองเป็นเวลา 1 เทอม หากประเมินแล้วไม่ดีก็เลิก”

ซึ่งนั่นหมายความว่าการแต่งกายด้วยชุดไปรเวทมาโรงเรียนนั้น เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น มิใช่การแต่งมาโรงเรียนอย่างถาวร และตลอดไป

แต่กระนั้น กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช.ก็ได้มีหนังสือถึงโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้ทบทวนเรื่องการแต่งกายชุดไปรเวทดังกล่าว จนเป็นผลให้โรงเรียนต้องยกเลิกการทดลองไป เพราะมีการอ้างถึงระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ซึ่งถือเป็นระเบียบปฏิบัติของนักเรียนไทยทุกสังกัดทั่วประเทศ

Advertisement

ที่น่าสนใจไปไม่น้อยกว่ากันคือ ข่าวการแต่งกายด้วยชุดไปรเวทมาโรงเรียนทุกวันอังคาร ของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเชียงของ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาล ที่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อให้นักเรียนมีความสุขกับการมาโรงเรียน โดยไม่ต้องกังวลกับการใส่ชุดนักเรียน และทำให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในการเรียนได้อย่างคล่องแคล่วสะดวกสบาย อันเป็นแนวคิดริเริ่มของครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลเชียงของในขณะนั้น ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า และท้าทายต่อจารีตปฏิบัติแบบเดิมๆ เป็นอย่างมาก

ประเด็นที่ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านได้ครุ่นคิดก็คือว่า “เหตุใด หลายท่านจึงมิอาจทำใจยอมรับ หรือเห็นด้วยกับการที่จะให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนได้?” ผมคิดว่ามีเหตุผลหรือข้ออ้างอย่างน้อย 3 ประการ คือ

หนึ่ง ตั้งแต่สมัยปฏิรูปประเทศ และก่อตั้งกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้เกิดระบบการศึกษาภาคบังคับขึ้น เพื่อให้เด็กไทยทุกคนที่มีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้รับการศึกษาในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ และต่อมาเมื่อระบบการศึกษาแบบโรงเรียนได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ ก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 ขึ้น ทำให้กระทรวงธรรมการในขณะนั้น ต้องประกาศระเบียบกระทรวงธรรมการ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 ตามมา

Advertisement

และเมื่อบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 แทน โดยให้เหตุผลในการกำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างวินัยให้แก่นักเรียน และมิให้บุคคลอื่นแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิจะแต่ง ทำให้นักเรียน และโรงเรียนผูกพันกับการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนมากว่า 80 ปี

เพราะฉะนั้น การที่จะให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน จึงขัดกับกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติอย่างชัดเจน

สอง นอกจากเหตุผลทางกฎหมายตามข้อหนึ่งแล้ว เหตุผลประการถัดมาคือพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงตรัสว่า *”จะได้ไม่มีการแบ่งแยกฐานะระหว่างคนรวย คนจน”* ซึ่งผมมิอาจยืนยันได้ว่าทรงตรัสเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือตรัสในบริบทใด แต่กระนั้นพระราชดำรัสนี้ ก็ได้ถูกนำมาใช้อ้างอิงอยู่เสมอเวลาที่เราพูดถึงการแต่งเครื่องแบบนักเรียน จนนำไปสู่การสร้างความภาคภูมิใจในการแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนตามมา

ถึงแม้ว่าในบริบทปัจจุบัน การแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียน จะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำ และแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม

และ สาม เพื่อความเหมาะสมกับเพศ และวัยของเด็ก เหตุผลนี้ดูจะเป็นไปได้ดีกับแนวคิดของสังคมไทย คือเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว เป็นเยาวชนของชาติ เด็กที่ดีต้องมีระเบียบวินัย แต่งกายถูกกาลเทศะ และเชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กผู้หญิงควรใส่กระโปรง เด็กผู้ชายควรใส่กางเกง

ซึ่งแนวคิดแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแต่งกายของบุคคลอย่างชัดเจน และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลโดยทั่วไป เด็กควรมีทางเลือกในการแต่งกายให้ถูกต้องตามกาลเทศะด้วยตนเอง โดยผู้ใหญ่ควรมีหน้าที่ในการบอก หรือเสนอว่าการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะนั้น “ควรเป็นแบบใด” ไม่ใช่ “ต้องเป็นแบบใด” เท่านั้น ซึ่งเด็กผู้หญิงบางคนอาจจะชอบใส่กางเกงมากกว่ากระโปรงก็ได้ แนวคิดแบบนี้จึงดูเป็นการกดขี่ทางเพศมากเกินไป

จากเหตุผล หรือข้ออ้างอย่างน้อยสามข้อข้างต้น จึงทำให้สังคมไทย และระบบการศึกษาไทย ก้าวข้ามไปไม่พ้นความมีระเบียบวินัยภายใต้กรอบ และรูปแบบของความเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งนั้นสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องระเบียบวินัยแบบทหาร และไม่ควรนำมาบังคับใช้กับพลเรือน โดยเฉพาะพลเรือนที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตที่ดีของชาติ เด็ก และเยาวชนของชาติในยุคปัจจุบัน จึงควรมีสิทธิ และเสรีภาพในการเลือกที่จะแต่งกายมาโรงเรียนได้ด้วยตัวเขาเอง แม้อาจจะยังเด็ก หรือเลือกแต่งกายไม่ได้ แต่ผู้ปกครอง และครู ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการส่งเสริม และสนับสนุน ให้เด็กรู้จักการแต่งกายที่เหมาะสม และถูกต้องตามกาลเทศะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมิใช่การบังคับให้ต้องแต่งกายให้เหมือนกันทั้งหมด ดังเช่นชุดนักเรียนที่เราแต่งกันอยู่ทุกวันนี้

บริบทโลกในปัจจุบันนั้น เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก และรวดเร็วเกินกว่าที่เราจะยึดติดตามกรอบคิด และแนวปฏิบัติเดิมๆ โดยไม่สนใจโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายต้องตระหนักว่า โลกใบนี้มิได้เป็นโลกของผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่จะต้องเป็นของเด็กที่จะเติบโดไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตอีกครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น เขาจึงควรมีส่วนในการกำหนดโลกในอนาคตของเขา โดยเริ่มต้นด้วยสิ่งเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ หากเราใจกว้างพอ คือยกเลิกการบังคับให้แต่งกายด้วยชุดนักเรียนมาโรงเรียน แม้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในสายตาชาวโลก แต่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยเช่นเดียวกันครับ

“You must be the change you wish to see in the world.

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบนโลกใบนี้ คุณต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวคุณ (Cr. Mahatma Gandhi)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image