กอปศ.แจงร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาปฐมวัย ไม่ห้ามสอบอนุบาล-ป.1

ดารณี อุทัยรัตนกิจ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์  นางดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ….  ในวาระ 2 และ3 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 160 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 1 เสียงนั้น จากนี้จะต้องรอการประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลยังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป  สำหรับสาระสำคัญ ของร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสนช. มีการปรับแก้ประเด็นสำคัญ ดังนี้ นิยามของเด็กปฐมวัย เดิมกำหนด ให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา  จนถึงช่วงอายุ 6-8 ปี หรือช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัยประถมศึกษาปีที่ 1-2  เป็น ให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบคลุมตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุต่ำกว่า 6 ปี ทั้งนี้ให้หมายความถึงเด็กที่ต้องได้รับการพัฒนาก่อนประถมศึกษา เช่น เด็กที่อายุเกิน 6 ขวบขึ้นไปแต่ไม่ได้เข้าเรียนระดับอนุบาล หากมีความประสงค์เข้าเรียนก็ต้องได้รับการดูแล เป็นต้น  ขณะเดียวกันยังตัดเรื่องระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ช่วงทารกในครรภ์มารดาออก เพราะเด็กที่อยู่ในครรภ์ยังไม่มีสถานะเป็นบุคคล จึงยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ได้ไปกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ให้ดูแลทางด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์แทน

นางดารณี กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ยังปรับแก้ในส่วนที่กำหนดไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนอนุบาลและชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท โดยเรื่องนี้ไม่ผ่านตั้งแต่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะหากกำหนดให้เป็นโทษอาญา จะไม่สามาปรับเป็นเงินได้ อีกทั้ง ยังไม่สามารถนิยามคำว่าการสอบได้ชัดเจน เช่น การให้เด็กผูกเชือกรองเท้า หมายถึงการสอบเข้าอนุบาลหรือป.1 หรือไม่ จึงอาจส่งผลเรื่องการตีความในอนาคต ดังนั้นสนช. จึงเห็นชอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและป.1 ทั้งนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

“เรื่องการสอบหรือไม่สอบเข้าเรียนอนุบาลหรือป.1 ดิฉันเห็นว่า เราควรมีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการนโยบายฯ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน ว่าจะพิจารณาการรับเด็กเข้าเรียนด้วยความเหมาะสม อย่างไรก็ตามการสอบหรือไม่สอบเข้าเรียนอนุบาล หรือป.1  ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เป็นประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและสังคม ซึ่งเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายฯ จะต้องมีแนวทางที่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ”นางดารณีกล่าว

นางดารณีกล่าวต่อด้วยว่า ที่ประชุมสนช. ยังปรับแก้การกำหนด สถานะสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเดิมกำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการ แต่ การกำหนดดังกล่าว ไม่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ไม่ให้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ ดังนั้นจึงเห็นชอบให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย  เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ สกศ. เองก็จะต้องไปจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป ทั้งนี้สกศ. เองก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รอเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ซึ่งยังต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้วสกศ. จะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือปรับไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image