สพฐ. เฝ้าระวังพื้นที่สุ่มเสี่ยงรับ ‘วันวาเลนไทน์’

สพฐ. เฝ้าระวังพื้นที่สุ่มเสี่ยงรับ ‘วันวาเลนไทน์’

เมื่อวัน 12 กุมภาพันธ์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้พัฒนาหลักสูตร วิชาวิทยาการคำนวณ ที่เดิมอยู่ในสาระการงานพื้นฐานอาชีพ ให้มาอยู่ในสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยวิชาวิทยาการคำนวณ เป็นวิชาใหม่ที่จะเป็นการฝึกกระบวนการคิดของนักเรียน สอนกระบวนการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เป็นขั้นตอน เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลได้ซึ่งจะคล้ายกับกระบวนการวิทยาศาสตร์

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า  วิชาวิทยาการคำนวณ อาจจะเป็นวิชาที่ทำความเข้าใจยาก ที่ประชุมจึงมีมติให้พัฒนา ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้เข้าใจถึงการเรียนการสอน วิชาวิทยาการคำนวณให้เกิดในห้องเรียนอย่างแท้จริง โดยกลุ่มแรกที่จะพัฒนาเพื่อให้เกิดการขยับตัวทั้งประเทศ คือภายในเดือนกุมภาพันธ์จะอบรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 225 คน เป็นเวลา 3 วัน ต่อรุ่น เพื่อฝึกให้เข้าใจและเห็นภาพรวมลักษณะของวิชาว่ามีมาตรฐาน มีตัวชี้วัดอย่างไร จากนั้นช่วงเดือนมีนาคม อบรมวิดีโอทางไกล (คอนเฟอเรนซ์) ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 30,000 แห่ง โดยมีผู้อำนวยการ สพท. เป็นพี่เลี้ยงและมีวิทยากรจากส่วนกลาง ให้ความรู้ว่าวิชาวิทยาการคำนวณมีหลักสูตรอย่างไร ให้เข้าใจกำกับติดตามงานในเบื้องต้น จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ความรู้กับครูทุกคน เพราะวิชาวิทยาการคำนวณ ไม่ใช่หน้าที่ของครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาคอมพิวเตอร์เท่านั้น เป็นหน้าที่ของครูทุกวิชาที่ต้องสอนกระบวนการนี้ให้นักเรียนเอาไปใช้ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนต้องอบรมครูให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งการสร้างความเข้าในวิชาวิทยาการคำนวณนี้ ให้สอดรับและตอบโจทย์โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) เพื่อให้อันดับคะแนนของประเทศดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม สพฐ.ไม่มีนโยบายจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนสำหรับเขียน หรือ KidBright เป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวที่สามารถทำงานตามชุดคำสั่ง เพื่อฝึกการเขียนโปรแกรม สำหรับวิชาวิทยาการคำนวณ แต่จะให้โรงเรียนไปหาผู้สนับสนุน หรือจัดซื้อด้วยงบประมาณของตน สพฐ.จะไม่ตั้งงบประมาณส่วนนี้ให้ และตอนนี้มีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจกอีก 20,000 ตัว เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกใช้ สพฐ.วางแผนจัดส่งอุปกรณ์ให้โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลก่อน” นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ สพฐ.มีการรณรงค์เฝ้าระวัง จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในวันวาเลนไทน์ ซึ่งจะเป็นการลดพื้นที่เสี่ยง และเพิ่มกิจกรรมที่ดีให้กับนักเรียน ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ ที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จะจัดนิทรรศการ “กิจกรรมรณรงค์การเฝ้าระวังและส่งเสริมสร้างสรรค์วันวาเลนไทน์ ปี 2562”  นอกจากนี้สพฐ. ได้มีหนังสือสั่งการไปยัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั้ง 225 เขต ให้เฝ้าระวัง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา (พสน.) ทำงานประสานร่วมกับทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมกันออกตรวจพื้นที่ดูแล พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่สุ่มเสี่ยง ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ โดยให้ สพท.รายงานผลการดำเนินงานภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image