‘สพฐ.’ยัน ‘ม.3 ขึ้น ม.4 ทุกคน’ ไม่กระทบนโยบายผลิตเด็กสายอาชีพ

‘สพฐ.’ยัน ‘ม.3 ขึ้น ม.4 ทุกคน’ ไม่กระทบนโยบายผลิตเด็กสายอาชีพ

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผย กรณีที่ประชุม กพฐ. มีมติแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562 ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ โดยให้ยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ เหลือ 4 ประเภท และกำหนดให้โรงเรียนต้องรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคน ว่า ภายในวันนี้ สพฐ.จะเสนอร่างประกาศสพฐ.เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 ที่ปรับปรุงตาม มติที่ประชุม กพฐ.ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ถ้าไม่มีประเด็นแก้ไขตนจะเป็นผู้ลงนามในประกาศต่อไป

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า การปรับแก้ไขดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษให้เหลือ 4 ประเภท ได้พิจารณารอบคอบและเลือกตัดในเรื่องที่พิจารณาแล้วว่าไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ แต่บางข้อที่ตัดไม่ได้ เช่น การบริจาคที่ดินจัดตั้งโรงเรียน เพราะมีข้อผูกพันอยู่ถ้ายกเลิกอาจมีผลกระทบ เช่น โรงเรียนหอวัง ใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ใช้ที่ดินของทหารอากาศ และยังต้องคำนึงถึงโรงเรียนที่ตั้งบนที่ดินในชุมชน หรือที่ดินของชาวบ้านที่บริจาค เพราะบางพื้นยังมีข้อผูกพันกันอยู่ และที่จะไม่มีการตัดแน่นอน คือ การสงเคราะห์เด็กยากไร้ บุตรผู้เสียสละทำคุณประโยชน์ต่อชาติ

“ประเด็นที่ให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบชั้นม.3 เข้าเรียนต่อม.4 ทุกคน ยืนยันว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์เจตนาไม่ได้สปอยนักเรียน นอกจากนี้มีเสียงสะท้อนว่าส่งผลกระทบต่อการเข้าเรียนสายอาชีพนั้น ผมมองว่าน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันว่า สพฐ.ส่งเสริมให้นักเรียน เรียนอาชีวะแน่นอน ซึ่งโรงเรียนสะท้อนว่าโดยธรรมชาติแม้ไม่ได้คัดนักเรียนออก 20% นักเรียนก็ออกไปเรียนที่อื่นทั้งเรียนอาชีวะ หรือไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนอื่นแทน และที่ผ่านมา สพฐ.ได้พยายามกระตุ้นให้เรียนรู้เรื่องอาชีพ ผ่านการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้รู้จักตัวตน ความถนัดตนเอง และปัจจุบันแนวโน้มที่นักเรียนไปเรียนอาชีวะมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น นักเรียนที่ตั้งใจจะออกไปเรียนอาชีวะเขาก็จะไปอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ถ้านักเรียนไม่ไปเรียนอาชีวะ ต่อให้ออกจากโรงเรียนเดิม ก็จะไปเรียนม.4 ที่อื่น ส่วนที่จะกระทบสิทธิของนักเรียนใหม่ที่อยากจะสมัครเรียนต่อม.4 โรงเรียนหรือไม่ ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะโรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้” นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลของนักวิชาการ ที่มองว่านักเรียนจะไม่ตั้งใจเรียนเพราะรู้ว่าอย่างไรก็ได้ขึ้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายโรงเรียนที่ต้องดูแลนักเรียน ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอน มากกว่าที่จะบอกว่านักเรียนไม่ควรได้รับการศึกษาในโรงเรียนเดิม

Advertisement

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะประกาศรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ออกมา สพฐ.ได้ประชาพิจารณ์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะอยากให้มีการตัดเงื่อนไขพิเศษบางข้อออก พอดีกับที่ ป.ป.ช.เสนอมาตรการดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้สพฐ. พิจารณายกเลิกทั้ง 7 ประเภท แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่าในความหมายไม่ใช่ให้ยกเลิกทั้ง 7 ประเภท แต่ให้พิจารณาว่าส่วนไหนที่ยกเลิกแล้วจะทำให้ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น จึงได้ตัดออกไป 3 ประเภท คือ นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย, รับนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่องออกไป

“ประเด็นม.3 เข้าเรียนต่อชั้นม.4 ทุกคน ในที่ประชุม กพฐ.ที่ผ่านมาก็มีการอภิปรายกว้างขวาง และเรื่องนี้ก็เป็นเสียงเรียกร้องส่วนใหญ่ด้วยว่า ไม่ควรจำกัดสิทธินักเรียนว่าได้เกรดเท่านี้ถึงจะได้เรียนต่อ แต่ควรให้นักเรียน ผู้ปกครองและโรงเรียนได้พูดคุยกัน ให้นักเรียนตัดสินได้เอง และโรงเรียนควรจะต้องดูแลนักเรียน เพราะบางคนอาจจะพลาดในบางช่วงเวลา ทำให้คะแนนต่ำจนไม่สามารถต่อม.4 ได้ และไม่ใช่การคัดค้านไม่ให้เรียนอาชีวะ ตรงกันข้าม สพฐ.ได้ส่งเสริมและเชิญให้วิทยาลัยอาชีวะรัฐและเอกชนเข้ามาจัดแนะแนวการศึกษาในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประกาศออกไปเป็นเรื่องปกติที่จะมีมุมมองที่แตกต่างกันไป” นายสนิท กล่าว

ด้านนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า เดิมการรับนักเรียนจบชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 โรงเรียนจะคัดออก 20% เพื่อให้นักเรียนจากโรงเรียนอื่นมามีโอกาสมาสมัครสอบเข้าเรียน ซึ่งการที่โรงเรียนต้องการรับสมัครนักเรียนใหม่นี้เอง จะเป็นช่องทางที่มาซึ่งการฝากนักเรียน หรือช่องทางตามเงื่อนไขพิเศษคือนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อกังวลว่าการรับนักเรียนที่จบ ม. 3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้นม.4 ทุกคนนั้น หากแผนการรับนักเรียน ม.4 มีน้อยกว่า ม.3 ที่มีอยู่เดิม จะมีทางแก้ไขอย่างไร ตนคิดว่าโรงเรียนสามารถยื่นเรื่องขอขยายห้องเรียน มาให้สพฐ. พิจารณาได้

Advertisement

“ที่บอกว่านโยบายนี้จะกระทบกับนโยบายที่ต้องการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพนั้น ถ้านักเรียนต้องการเรียนอาชีวะจริง จะออกเองโดยอัตโนมัติ ถึงแม้โรงเรียนจะให้เรียนต่อชั้น ม.4 แต่ถ้านักเรียนไม่ชอบเรียนอาชีวะ แม้โรงเรียนจะไม่ให้เรียนต่อชั้น ม.4 เดิม ก็จะออกไปเรียนต่อชั้น ม.4 โรงเรียนอื่น เพราะเขาไม่ชอบเรียนอาชีวะ หลักคือ โรงเรียนเอานักเรียนออกโดยไม่มีเหตุผล เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนจะคัดนักเรียนเก่าออก 20% และบอกว่านักเรียนเหล่านี้ไปเรียนสายอาชีพ แต่ความจริงแล้วคือการบีบนักเรียนให้ออกโดยอ้างว่าเกรดเฉลี่ยไม่ถึง และเปิดรับสมัครสอบนักเรียนอีก 20% เพื่อเป็นช่องทางในการรับฝากต่างๆ แต่ตอนนี้ กพฐ.บอกว่าต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนทุกคน ถ้านักเรียนต้องการเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนควรให้สิทธิเรียนต่อ และโรงเรียนจะคัดนักเรียนที่เก่งอย่างเดียวได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนมีหน้าที่สอนหนังสือ ส่วนที่กังวลว่านักเรียนจะไม่ตั้งใจเรียนเพราะรู้ว่าอย่างไรก็ได้ขึ้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมนั้น เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องเข้มงวด ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เข้ากับปัจจุบัน” นายเอกชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image