‘ชาญวิทย์’ พา น.ศ.ครึ่งร้อยทัวร์มหา’ลัยเก่าสุดในมาเลฯ ชี้ ศึกษา ปวศ.ไทยต้องเข้าใจเพื่อนบ้าน

‘ชาญวิทย์’ พา น.ศ.ครึ่งร้อยทัวร์มหาลัยเก่าสุดในมาเลฯ ชี้ ศึกษา ปวศ.ไทยต้องเข้าใจเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คณาจารย์และนักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาหรือ ‘ซีส์’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี เดินทางเข้าทัศนศึกษาที่ Muzium Seni Asia หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย มหาวิทยาลัยมลายา เพื่อชมคอลเล็กชั่นเครื่องถ้วยของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเครื่องสังคโลกของไทย ซึ่งมีความสมบูรณ์อย่างมาก

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ โครงการซีส์ จัดกิจกรรมพานักศึกษาที่ลงทะเบียนรายวิชา มธ.111 ประเทศไทยในมิติประวัติศาสตร์ ประมาณ 60 ราย ทัศนศึกษายังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อให้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านในแง่มุมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แม้แต่เรื่อง ‘เวลา’ ซึ่งมาเลเซียและสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมงทั้งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกัน ก็เป็นเหตุผลด้านประวัติศาสตร์การค้า

“เดิมเวลาของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เท่ากัน ต่อมามีการปรับเปลี่ยนให้เร็วขึ้น 1 ชม. เพื่อให้เท่าฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางธนาคารและการเงินใหญ่ที่สุดในเอเชีย ไทยเองก็เคยมีคนพยายามผลักดันให้ปรับเวลาให้เท่าฮ่องกงเหมือนกัน แต่ไม่สำเร็จ” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

Advertisement

 

Advertisement

Dr. Mala Rajo Sathian หัวหน้าภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะอักษรศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มลายา กล่าวว่า ภาควิชาของตนก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1978 เก่าแก่กว่าโครงการซีส์ ม.ธรรมศาสตร์ มีการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก นอกจากด้านวัฒนธรรมยังสอนภาษาของประเทศอาเซียน 4 ภาษา ได้แก่ ไทย พม่า เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ผ่านมา มีการติดต่อแลกเปลี่ยนทั้งนักศึกษาและอาจารย์กับโครงการซีส์ตลอดมา อีกทั้งยังมีอาจารย์โครงการซีส์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากที่นี่ด้วย คือ ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน

“ที่นี่เรายังมีหลักสูตรไทยศึกษา มีงานวิจัยตีพิมพ์เรื่อง Siamese in Malasia 2 ปีก่อนศาสตราจารย์ชาญวิทย์ก็รับเชิญมาสอน และมีนักศึกษาของเราแลกเปลี่ยนไปธรรมศาสตร์ด้วย สำหรับการทัศนศึกษานี่คือครั้งที่ 4 ที่โครงการซีส์มาเยี่ยม เราหวังว่าจะมีครังต่อๆ ไป” Dr. Mala กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการทัศนศึกษาครั้งนี้ ยังเชิญ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องปั้นดินเผาและชาวจีนโพ้นทะเล เจ้าของผลงาน “กระเบื้องถ้วย กะลาแตก” ร่วมบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษา โดยอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของเครื่องถ้วยสังคโลก ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีของชิ้นเอกจำนวนมาก โดยเฉพาะสังคโลกรูปช้างซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง

ทั้งนี้ University of Malaya มหาวิทยาลัยมลายา เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2492 วางรากฐานโดยอังกฤษซึ่งต้องการสร้างโรงพยาบาลขึ้น จึงตั้งโรงเรียนแพทย์ ต่อมา ขยายสู่สาขาวิชาอื่นๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน อาทิ สังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image