อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์เผย ความเข้าใจผิดของคนไทย ขณะเยี่ยมชม ‘ช้างสำริด’ ของขวัญ ร.5 พระราชทาน ‘สิงคโปร์’

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ประเทศสิงคโปร์ คณาจารย์และนักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาหรือ ‘ซีส์’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาทัศนศึกษาเนื่องในรายวิชา มธ. 111 ประเทศไทยในมิติประวัติศาสตร์

หนึ่งในสถานที่เข้าเยี่ยมชมในวันนี้คือบริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งเดิมคือ อาคารไปรษณีย์สิงคโปร์ ไม่ไกลจากรัฐสภา โดยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ช้างสำริดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2413 เนื่องในโอกาสประพาสสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรกของพระองค์ โดยมีเรือ ‘พิทยัมรณยุทธ’ เป็นเรือพระที่นั่ง

บริเวณฐานอนุสาวรีย์มีจารึกทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาจีนด้วยข้อความที่มีเนื้อหาเดียวกัน โดยด้านภาษาไทย. มีข้อความว่า

Advertisement

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเมืองสิงคโปร์ เป็นแผ่นดินต่างประเทศครั้งแรก ที่พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวัน 5 (วันศุกร์) แรม 11 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมียโทศก (จุลศักราช) 1232”

ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การพัฒนาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ใก้มีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ มักถูกเข้าใจว่าทรงได้แบบอย่างมาจากตะวันตกหลังเสด็จประพาสยุโรป แต่ความจริงแล้วหากพิจารณาลำดับเวลาจะพบว่าการประพาสยุโรปอยู่ในช่วงท้ายของรัชสมัยแล้ว ดังนั้น ความเจริญส่วนใหญ่ที่เป็นโมเดลของการพัฒนาสยามในยุคนั้นมาจากสิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา

“คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการพัฒนาของเราได้ต้นแบบมาจากยุโรป แต่จริงๆเป็นการรับผ่านสิงคโปร์ และชวา” ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

Advertisement

 

 

ผศ.ดร. อรอนงค์ ทิพย์วิมล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ความสำคัญของที่นี่คือการเป็น ‘ต่างประเทศ’ แห่งแรกที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส เมื่อทรงนำช้างสำริดมาพระราชทานแล้ว ทางสิงคโปร์ก็ถวายของขวัญตอบแทน ต่อมาเมื่อเสด็จประพาสชวา ก็ทรงนำช้างสำริดไปมอบให้เช่นกัน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินโดนีเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาต่างพากันถ่ายภาพและหังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้วยความสนใจก่อนเดินเท้าต่อไปยังอนุสาวรีย์ Sir Thomas Stamford Raffles ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ยุคใหม่ โดยพัฒนาจากหมู่บ้านชาวประมงเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองกระทั่งเป็นประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน อนุสาวรีย ดังกล่าวตั้งอยู่ริมแม่น้ำสิงคโปร์ในจุดที่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวเหยียบแผ่นดินสิงคโปร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2362

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image