สพฐ.อบรม ‘บิ๊ก ร.ร.-ผอ.สพท.’ ก่อนบรรจุ ทดลองงาน 1 ปีไม่ผ่าน ให้กลับไปตำแหน่งเดิม

‘สพฐ.’ เตรียมติวเข้มจัดอบรม ‘บิ๊ก ร.ร.-ผอ.สพท.’ 1 มี.ค. เร่งบรรจุ ผอ.ร.ร. 4,906 อัตรา ด้านอบรม ‘ผอ.สพท.’ 49 คน เรียนลูกเสือ-ลงพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20-27 กุมภาพันธ์นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะจัดอบรมผู้สอบผ่านการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ปี 2561 จำนวน 5,031 คน พร้อมกันในจุดอบรม 13 จังหวัดทั่วประเทศ จากตำแหน่งว่างที่บรรจุได้ 4,906 คน โดยจะประกาศผลว่าผ่านหรือไม่ผ่านในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จากนั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จะให้ ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ผ่านการอบรมไปรายงานตัวที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เลือกโรงเรียนตามลำดับคะแนน และเร่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 มีนาคม

“การอบรมปีนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาและมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น นำเทคโนโลยีมาใช้ในการอบรม สพฐ.จึงนำเนื้อหามาบันทึกเป็นวิดีอาร์และส่งเป็น QR Code ให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ก่อน พร้อมทั้งให้กรอกข้อมูลตัวเองเข้าแอพพลิเคชั่นไลน์โดยจะจัดกลุ่มๆ เป็นกลุ่มละ10 – 15 คน นอกจากนี้ในวันอบรมจริงตามจุดอบรมทั่วประเทศนั้น จะเป็นยกกรณีศึกษานำความรู้ที่ได้อ่านมาก่อนหน้านี้มาตั้งเป็นประเด็นถกเถียงกัน และตะมีการบรรยายสดผ่านวิดีโอทางไกล (คอนเฟอเรนซ์) ก็จะใช้คำถามนำถ้าไม่อ่านมาก่อนก็จะตอบไม่ได้ ทั้งนี้ แม้จะผ่านการอบรมและแต่งตั้งไปแล้ว ต้องทำ 4 เรื่องให้ชัดเจน คือ การครองตน ครองคน ครองงาน และปฏิบัติงาน ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดช่วงทดลองเป็นผู้บริหารไว้ 1 ปี จะมีตัวชี้วัดว่าต้องทำอะไรบ้าง พร้อมอบรมเติมเต็มและประเมินเป็นระยะ ถ้าประเมินไม่ผ่านต้องถูกถอดถอนกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม” นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-8 เมษายน สพฐ.จะจัดอบรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ใหม่ จำนวน 49 คน โดยใช้หลักการเดียวกับการอบรมผู้อำนวยการ แต่ในสัปดาห์แรก ผู้อำนวยการ สพท.ใหม่ จะถูกส่งไปฝึกผู้นำลูกเสือ ที่ค่ายบลูกเสือวชิราวุธ เพื่อสร้างความสามัคคี หล่อหลอมความเป็นทีม ส่งเสริมวินัย จากนั้นจะส่งไปฝึกงานในบริบทของพื้นที่ที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาตามสภาพจริงในพื้นที่นั้นๆ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้  หรือ บนพื้นที่สูงในจัวหวัดภาคเหนือ เป็นต้น และให้กลับมาเสนอแผนงานว่าหากเป็น ผู้อำนวยการ สพท.ในพื้นที่นั้นๆจะทำอะไร ทำอย่างไร พัฒนาพื้นที่อย่างไร ซึ่ง สพฐ.จะติดตาม 1 ปี และประเมินผลด้วย หากสามารถทำงานบรรลุเป้าหมาย ก็ประเมินผ่านเป็นผู้อำนวยการ สพท.ต่อ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image