‘หมออุดม’ ผิดหวังอย่างแรง หลังเกิด ‘กรมการอุดมศึกษา’ ชี้บทบาทลดลง-ทำงานเป็นคอขวด

นพ.อุดม คชินทร

‘หมออุดม’ ผิดหวังอย่างแรง หลังเกิด ‘กรมการอุดมศึกษา’ ชี้บทบาทลดลง-ทำงานเป็นคอขวด

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณี ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง มีมติกำหนดให้มีกรมการอุดมศึกษา อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมฯ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านวาระ 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ว่า โดยส่วนตัวตนผิดหวังอย่างแรง เพราะในหลักการและเจตนาเดิมที่ทำมาตั้งแต่ต้น คือการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มารวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อจะได้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยมีอุดมศึกษาเป็นผู้นำเพราะอุดมศึกษาเป็นฐานทุกอย่าง และต้องเข้าใจว่าเนื้องานหรือภารกิจที่สำคัญ คือ อุดมศึกษา แต่เมื่อมีการปรับอุดมศึกษาไปเป็น “กรม” ภายใต้กระทรวงการอุดมฯ ก็ผิดหลักที่ทำไว้แล้ว ซึ่งการเพิ่มกรมการอุดมศึกษาขึ้นมานั้น เกิดขึ้นในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งที่จากเดิมการออกแบบโครงสร้างกระทรวงการอุดมฯ จะเป็นกระทรวงที่มีกรมเดียว คือ สำนักงานปลัด เพราะไม่ต้องการให้เกิดความแข็งตัวตามระบบราชการ แต่ต้องการให้กระทรวงการอุดมฯ มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดกรมการอุดมศึกษา ขึ้นมากลายเป็นลดบทบาทอุดมศึกษา มาเป็นกรมเล็กลง ภาระงานเล็กลง ผู้บริหารจากระดับ (ซี) 11 เหลือแค่ซี 10 อีกทั้งการทำงานกลายเป็นคอขวด เพราะการทำงานต้องไปตามระบบราชการ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้นำลดลงของอุดมศึกษาลดลง และไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ เพราะบุคลากรจาก สกอ.ที่ดูเรื่องการอุดมศึกษาจะมาอยู่กรมการอุดมศึกษาแค่ 40% ที่เหลือจะกระจายไปที่สำนักงานปลัด สำนักนโยบายและแผน สำนักวิจัย เป็นต้น

“ด้วยเหตุผลต่างๆ เห็นชัดว่าการมาเป็นกรมไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อีกทั้งขณะนี้ฟากมหาวิทยาลัยไม่พอใจอย่างมาก เพราะจะถูกบีบให้ลดความสำคัญลงไปเรื่อย ซึ่งทราบว่าที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ยื่นหนังสือถึง สนช.และกมธ.วิสามัญ แล้วเพื่อขอให้ทบทวน และในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จะยื่นเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากไม่เร่งทบทวน และปล่อยไว้จะเกิดความโกลาหลขึ้น ทางฝั่งอุดมศึกษาบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ขออยู่ที่เดิมดีกว่า ทั้งนี้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2 และ 3 ถ้าจะมีการทบทวนก็ต้องทำช่วงนี้ เพราะถ้าเข้าสู่การพิจารณา ก็จะพิจารณาตามที่ กมธ.วิสามัญเสนอมา” นพ.อุดม กล่าว

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดอะไรได้ เพราะผ่านขั้นตอนของ ศธ.มาแล้ว แต่รู้สึกผิดหวัง เพราะไม่ได้อย่างที่หวังไว้ว่าอุดมศึกษาจะถูกยกระดับ แสดงบทบาทสำคัญในการที่จะสร้างการแข่งขันของประเทศเพื่อยกระดับประเทศได้ ที่สำคัญคือ บทบาทของอุดมศึกษา ถูกลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ตอบโจทย์สิ่งที่วางไว้แต่แรก เป็นเรื่องที่กมธ.วิสามัญต้องไปพิจารณาอีกทีว่าสวนกระแสกับสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

ด้านนายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) มทร. กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งตนได้พูดคุยกับกลุ่มทปอ. และกลุ่มทปอ.มรภ. ต่างก็คิดแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ถ้ามีกรมการอุดมศึกษา ขึ้นมาจะมีแต่จะยุ่งขึ้นไปอีก การทำงานจะเป็นรูปแบบเดิมติดอยู่ในกรอบราชการ ไม่คล่องตัว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ตนจะเป็นตัวแทน ทปอ.มทร.เข้าไปยื่นหนังสือถึง กมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมฯ เพื่อขอให้ทบทวนโครงสร้างดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ทราบว่าทาง ทปอ.มรภ.ก็จะมายื่นหนังสือเช่นเดียวกัน

นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุม ทปอ.มรภ. กล่าวว่า ตนทราบข่าวแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ หากมีกรมอุดมศึกษาขึ้นมา จะทำให้บทบาทของอุดมศึกษาลดลง อย่างไรก็ตามได้หารือกับทาง ทปอ. และทปอ.มทร.แล้ว วันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ จะเข้าไปยื่นหนังสือถึง กมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมฯ เพื่อขอให้ทบทวนโครงสร้างอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image