รองเลขาฯจุฬาราชมนตรี แนะองค์กรปกครอง ‘พุทธ-อิสลาม’ ช่วยสกัดกลุ่มไม่หวังดี ‘ปล่อยข่าว-สร้างเกลียดชัง’

พระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) วัดมหาพุทธาราม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ รองเจ้าคณะจังหวัด (จจ.) ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำหนังสือชี้แจงมหาเถรสมาคม (มส.) ถึงสาเหตุที่ชะลองบประมาณอุดหนุนวัด เนื่องจากวัดยังไม่มีระเบียบ และไม่มีประสิทธิภาพในการทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง และเกรงว่ามิจฉาชีพอาจใช้ช่องทางนี้แสวงหาผลประโยชน์ โดย มท.กำลังปรับปรุงร่างระเบียบ มท.ว่าด้วยเงินอุดหนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. … ว่า มองว่าถ้า มท.จะชะลองบฯ อุดหนุนวัด ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐที่จะพิจารณาเห็นสมควร เพราะที่ผ่านมารัฐไม่เคยมีงบฯ อุดหนุนวัดในส่วนนี้ แต่เพิ่งมีเมื่อไม่กี่ปี ดังนั้น จะมีงบฯ ในส่วนนี้สนับสนุนวัดหรือไม่ พระสงฆ์ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หากรัฐเห็นว่าสมควรอุปถัมภ์วัด ควรมีระเบียบ และขอบข่ายการจัดสรรงบฯ ที่ชัดเจน เพื่อพระสงฆ์จะปฏิบัติตามได้ และป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทั้งนี้ เงินเข้าวัดส่วนใหญ่ 95% มาจากศรัทธาของญาติโยม ส่วนอีก 5% มาจากรัฐ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อุดหนุน หากไม่มีงบฯ ในส่วนนี้ วัดก็ประคองค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ได้

พระราชธรรมสารสุธี กล่าวต่อว่า ส่วนที่ มท.ให้เหตุผลในการชะลองบฯ ว่าวัดไม่มีระเบียบในการจัดทำบัญชี อาตมามองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะงบฯ ในส่วนที่ มท.อุดหนุนวัดผ่านทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่ง อบจ.และ อบต.ต้องมีระบบการตรวจสอบงบฯ และรายงานไปยัง มท.ส่วนเงินที่วัดได้รับบริจาคจากญาติโยม ทางวัดทำรายงานส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) เพื่อรายงาน พศ.ปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นพราะมีคนโยงให้เป็นประเด็นปัญหาในสังคม
“ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า มท.ตัดงบฯ วัดไปสร้างมัสยิด เรื่องเช่นนี้ต้องทำความเข้าใจว่ามนุษย์เราอยู่ภายใต้โลกธรรม 8 ดังนั้น การวิจารณ์ในสิ่งที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือรู้สึกเฉยๆ ถือเป็นเรื่องปกติ และอาตมามองว่าไม่เกี่ยวกัน” พระราชธรรมสารสุธีกล่าว

นายซากรี พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า กรณีมีการแชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุสาเหตุที่ มท.ออกหนังสือชะลองบฯ อุดหนุนวัด เพราะรัฐบาลได้อนุมัติงบฯ สร้างมัสยิดแห่งละ 300 ล้านบาท จังหวัดละ 1 แห่งนั้น ไม่เคยได้ยิน ส่วนมัสยิดที่สร้างในพื้นที่ต่างๆ เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันของชาวมุสลิมที่สร้างมัสยิดขึ้นในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งงบฯ มาจากการประสานงานระหว่างผู้นำมุสลิมในท้องถิ่น กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดทำเรื่องของบฯ สร้างมัสยิด คาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งกันเอง
นายซากรีกล่าวต่อว่า กระแสที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นปัญหาระหว่างศาสนา แต่เป็นกระแสที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น องค์กรปกครองทางพระพุทธศาสนา หรือมหาเถรสมาคม (มส.) จำเป็นต้องมีมาตรการสั่งห้ามการเผยแพร่ข่าวที่ไม่มีข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างศาสนา ส่วนการแก้ปัญหานั้น หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องรีบจัดการกับผู้ที่มีความคิดสุดโต่งทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือมุสลิม ต้องป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้เผยแพร่ข่าว เพราะจะเกิดเป็นภัยความมั่นคงของประชาชน นอกจากนี้ ควรสร้างพื้นที่ในการจัดเสวนา หรือประสานงานระหว่าง 2 ศาสนา องค์กร หรือที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ต้องทำงานร่วมกันภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาขึ้น

“การสร้างกระแสให้เกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมัสยิดทุกจังหวัด หรือมุสลิมต่อต้านการสร้างพุทธมณฑลที่ จ.ปัตตานี เรื่องดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหาถ้าศาสนิก 2 ศาสนา มีศรัทธาเข้มแข็งพอ การอยู่ด้วยกันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะทำให้สังคมไทยอยู่รอดปลอดภัย ดังนั้น รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรีบทบทวน และเร่งหาทางแก้ไขหาวิธีลดอคติของศาสนิกให้มากที่สุด เพราะถ้ารีบแก้ไขปัญหาในระยะเบื้องต้นได้ จะทำให้ไม่สิ้นเปลืองบุคคลากร และงบฯ แต่ถ้าปล่อยให้ปัญหาขยายตัว อาจเป็นเหมือนกรณีปัญหาระหว่างศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งลุกลามแก้ไขยาก อย่างไรก็ตาม การสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนา จะเป็นการตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างศาสนิก และแม้เกิดความขัดแย้งก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน เพราะรัฐบาลคงไม่มีนโยบายผลักดันศาสนาใดศาสนาหนึ่งออกนอกประเทศน”นายซากรีกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image