เปิดประวัติ 12 ศิลปินแห่งชาติ ปี’61

ตามที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)คัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2561 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน 3 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ นายชิน ประสงค์ (ประติมากรรม) นายปริญญา ตันติสุข (จิตรกรรม) นางคำปุน ศรีใส (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) นายคงศักดิ์ ยุกตะเสวี (สถาปัตยกรรมภายใน) 2.สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายจำลอง ฝั่งชลจิตร นายเสน่ห์ สังข์สุข และ 3.สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน  นายวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ (ลิเก) นางกั้น เชาวพ้อง (โนรา) นางสุคนธ์ พรพิรุณ (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) นายประภาส ชลศรานนท์ (ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล) และ นางสมสุข กัลย์จาฤก (ละคร-ละครโทรทัศน์) นางเอก ชาวราษฎร์ (เพชรา เชาวราชษฎร์) (ภาพยนต์) นั้น มติชนเปิดประวัติศิลปินแห่งชาติทั้ง 12 คน ดังนี้

นางกั้น เชาวพ้อง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(โนรา) ปัจจุบันอายุ 86  ปี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดจันพอ จ.นครศรีธรรมราช  ตลอดระยะเวลา68  ปี ที่โนรากั้น บันเทิงศิลป์ ได้แสดงโนราเพื่อสังคม ในทุกงาน รูปแบบการแสดงของโนรากั้น ไม่เคยทอดทิ้งเอกลักษณ์การเป็นโนราแบบโบราณ จึงนับได้ว่า โนรากั้น ได้อนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ของโนราคนหนึ่งของภาคใต้ไว้อย่างน่าภาคภูมิใจ ปัจจุบัน โนรากั้น บันเทิงศิลป์ ยังคงรับงานแสดง และยินดีรับเชิญไปแสดงเสมอเมื่อเป็นงานการกุศลและช่วยเหลือสังคม  ตลอดจนมีลูกศิษย์มากมายไม่ต่ำกว่า 100  คน

Advertisement

นางสมสุข กัลย์จาฤก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครวิทยุ – ละครโทรทัศน์) ปัจจุบันอายุ 92 ปี ได้ก่อตั้งคณะละครวิทยุ กันตนา ซึ่งเป็นหนึ่งในละครวิทยุคณะแรกๆของประเทศไทย ได้ประพันธ์เรื่องและเขียนบทละครวิทยุขนาดยาวขึ้นเป็นครั้งแรก เรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสื่อวิทยุ จากนั้น ได้เป็นบรรณาธิการบทละครโทรทัศน์และร่วมสร้างสรรค์ละครในนามคณะส่งเสริมศิลปิน ซึ่งเป็นคณะผู้ผลิตละครที่นายประดิษฐ์และนางสมสุข สนับสนุนให้ก่อตั้งขึ้น

นางสุคนธ์  พรพิรุณ หรือ “พรพิรุณ”  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ปัจจุบันอายุ 84  ปี มีความรู้ในการแต่งเพลงได้ ตั้งแต่อายุ 14 ปี เริ่มเขียนเพลงไทยสากลเพลงแรก “มนต์จันทร์” ให้กับคณะละครวิทยุ “พันตรีศิลปะ”  เป็นนักเขียนแต่งเพลงอิสระ ได้เข้าทำงานในวงสุนทราภรณ์เป็นนักแต่งเพลง ส่งเพลงให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งพรพิรุณ มีพรสวรรค์ที่สำคัญที่ครูเพลงทั้งหลายในยุคนั้นรู้กันดี คือ สามารถอ่านโน้ตปากเปล่าได้ทุกบันไดเสียง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีใดๆ ทำเสียงให้ ถือเป็นเป็นปรมาจารย์ทางดนตรีสากลทั้งในด้านการเป็นนักประพันธ์เพลง ปรากฏผลงานในทุกประเภท รวมแล้วมากกว่า 3,000 เพลง

นางเอก ชาวราษฎร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) ปัจจุบัน อายุ 75 ปี ได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และดอกดิน กัญญามาลย์ ให้แสดงภาพยนตร์เรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี เมื่อ ปี 2505 เป็นเรื่องแรก ขณะอายุ 19  ปี แสดงคู่กับ มิตร ชัยบัญชา โดยดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า “เพชราเชาวราษฎร์” แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากภาพยนตร์เรื่องที่สอง เรื่อง ดอกแก้ว แสดงคู่กับมิตร ชัยบัญชา รับบทคู่รักในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เป็นที่ชื่นชอบของแฟนภาพยนตร์ เรียกว่า คู่ขวัญ มิตร – เพชรา มีผลงานประมาณ 300 เรื่อง กระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2515 เพชราเริ่มมีปัญหาเรื่องสายตา เนื่องจากในการถ่ายภาพยนตร์ต้องใช้แสงไฟที่สว่างมาก ใช้เวลารักษาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งตาบอดสนิททั้งสองข้าง หลังจากนั้นต้องหยุดงานแสดงเพื่อรักษาสุขภาพมาโดยตลอด จนเมื่อ พ.ศ.2544-2548ได้ทำงานเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่นลูกทุ่งเอฟเอ็ม

นายวิโรจน์  วีระวัฒนานนท์ (นามในการแสดง “วิโรจน์ หลานหอมหวล”) พระเอกลิเก-ผู้กำกับการแสดงลิเก-ผู้ประพันธ์บทลิเก-ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูลิเก ปัจจุบันอายุ 74 ปี อาชีพเดิมของบิดามารดาทำนา มารดาเป็นธิดาของนายหอมหวลนาคศิริ อดีตครูลิเกคนสำคัญ บิดาเป็นเชื้อสายเพลงพื้นบ้าน เริ่มฝึกหัดลิเก ตั้งแต่อายุ 12 ปี ร่วมกับเด็กในละแวกบ้าน โดยนายหอมหวลนาคศิริ(คุณตา) เป็นผู้สอนการร้องราชนิเกลิง แม่ครูน้อม ละครในวังเก่า หัดท่ารำ คุณตาได้ตั้งคณะลิเก “คณะหอมหวลรุ่นพิเศษ” พาออกแสดงตามเมืองต่างๆ โดยมอบความไว้วางใจให้นายวิโรจน์หลานชายรับบทพระเอกประจำ จนเริ่มมีชื่อเสียงและมีประสบการณ์มากขึ้น หลังจากอุปสมบทแล้ว คุณตาหอมหวลได้อนุญาตให้เป็นหัวหน้าคณะลิเกเอง โดยใช้ชื่อคณะว่า “วิโรจน์หลานหอมหวล”

 

นายประภาส  ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล) ปัจจุบันอายุ 59 ปี  เริ่มแต่งเพลงขณะเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพลงที่เขียนถูกรวบรวมเป็นอัลบั้มของเฉลียง ชุดแรก ชื่อ “ปรากฏการณ์ฝน” ในระหว่างเรียนอยู่ปีสุดท้ายได้มีโอกาสเขียนบทและแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องวัยระเริงของเปี๊ยก โปสเตอร์ และเมื่อจบการศึกษา เข้าทำงานในบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ เริ่มแต่งเพลงที่เป็นที่รู้จักไว้มากมาย ที่สำคัญได้แต่งเพลงประกอบละครเทิดพระเกียรติและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติไว้มากมาย รวมถึงแต่งเพลงเทิดพระเกียรติในหลวงร.9 และพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ เพลงครองแผ่นดินโดยธรรมเพลงแม่ของแผ่นดิน ฯลฯ  โดยได้แต่งเพลงมาแล้วมากกว่า 200 เพลง

นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ทอผ้า) ปัจจุบันอายุ 86 ปี เกิดที่จ.อุบลราชธานี ได้รับการสืบทอดศิลปะการทอผ้าไหมจากบรรพบุรุษตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งการทอผ้าไหมสีต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ชนิด 2 ตะกอ 3 ตะกอ และ 4 ตะกอ รวมถึงผ้าไหมยกเงินผ้าไหมยกทอง นอกจากนี้ได้พัฒนาการทอผ้าไหมให้มีลวดลายวิจิตรพิสดาร โดยยึดรากฐานการทอผ้าอีสาน โดยผ้าที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุน คือ ผ้าไหมมัดหมี่ผสมการจก (การปัก) ด้วยไหมสีต่างๆมีทั้งไหมเงินไหมคำลงบนผืนลายผ้า เพื่อให้เกิดแสงเลื่อมพรายเมื่อต้องแสงไฟ ช่วยให้ผ้ามีความงดงามวิจิตรตระการตามากขึ้น อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของผ้าจากความคิด ปรัชญาและความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยลวดลายที่เต็มไปด้วยศิลปะ ได้รับความสนใจจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงของประเทศนําไปใช้ในพิธีการต่างๆอยู่เสมอ และยังได้ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของตัวเอกในภาพยนตร์ เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร”

นายคงศักดิ์ ยุกตะเสวี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายใน) อายุ 67 ปี  จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีโอกาสเรียนรู้สถาปัตยกรรมไทยจากอาจารย์พระพรหมพิจิตร ทำให้เข้าใจจิตวิญญานรูปแบบ รูปทรงตลอดจนรายละเอียดของสถาปัตยกรรมไทยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนายคงศักดิ์  ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องที่บริษัท ลีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด  โดยเน้นการออกแบบโรงแรมเป็นหลัก แต่ มีความสนใจและทุ่มเทเวลาให้การออกแบบตกแต่งภายในอาคารประเภทโรงพยาบาลเพิ่มเติม เนื่องจากต้องการยกระดับโรงพยาบาลในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและดึงดูดผู้ที่มาใช้บริการจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ แง่คิดในชีวิตการทำงานของนักออกแบบเพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาเข้าสู่การทำงานอย่างมืออาชีพ

นายชิน ประสงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) อายุ 77  ปี จบการศึกษาระดับปริญญาศิลปบัณฑิต (ประติมากรรม) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2512  เป็นนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกข้อสอบภาคปฏิบัติ และได้เข้ารับราชการในโรงหล่อของกรมศิลปากร สร้างสรรค์ผลงานปั้นประติมากรรมไว้มากมาย งานแรกอันเป็นงานประติมากรรมที่สำคัญ คือ ปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ซึ่งประดิษฐาน ณ ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ นายชิน ประสงค์ ยังเป็นผู้ที่ออกแบบอนุสาวรีย์หลายแห่ง อาทิ ภาพแกะสลักหินนูนต่ำ พระกรณียกิจสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่นิเวศสถาน ย่านคลองสาน ออกแบบและอำนวยการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 12 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง 12 สุนัข ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙และภายหลังการสวรรคตของในหลวงร.9  โดยได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ให้ปั้นประติมากรรม “คุณทองแดงและคุณโจโฉ” สุนัขทรงเลี้ยง เพื่อนำไปประดับข้างพระจิตกาธาน

นายปริญญา ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) อายุ 64 ปี  ได้สร้างสรรค์และพัฒนาผลงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จากนั้นได้พัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานโดยเป็นการผสมผสานเนื้อหาคำสอนในพุทธศาสนา คำสอนของพระอริยสงฆ์ สถานที่และธรรมชาติ ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลที่ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย การประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 6 เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 38 เกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 60 และ ยังสร้างสรรค์ผลงานไปพร้อมกับการศึกษาทดลองด้วยเทคนิคกรรมวิธีต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น วาดเส้น จิตรกรรมสีน้ำ จิตรกรรมวัสดุบนกระดาษทำเอง และงานสื่อผสม เพื่อค้นคว้าและพัฒนาวิธีการแสดงออกในการสร้างสรรค์ศิลปะของตนเอง ตลอดจนนำความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติจริงไปสู่การถ่ายทอดให้ความรู้แก่นักศึกษาและผู้สนใจด้วย

นายจำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  อายุ 66  ปี เป็นชาวจ.นครศรีธรรมราช เข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะลาออกไปเป็นครู เป็นพนักงานโรงแรม เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ และเป็นนักเขียนอิสระ  เริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกปี 2518 จากนั้นสร้างสรรค์งานประเภทต่างๆอย่างสม่ำเสมอทั้งเรื่องสั้น วรรณกรรมเยาวชน นวนิยาย สารคดี และบทความ รวมเล่มแล้ว 26 เล่ม นายจำลองฝั่งชลจิตร ใช้ชื่อจริงในการเขียนเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็ใช้นามปากกา เช่น ประกายมุกงามแต่งแต้ม  ช. โชนแสง บุษบา เกื้อกลิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ จำลอง ฝั่งชลจิตร ยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านวรรณศิลป์สู่เยาวชนและนักเขียนรุ่นหลังอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

นายเสน่ห์  สังข์สุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์   เกิด ที่จ.เพชรบุรี ปัจจุบันอายุ 62 ปี เริ่มทำงานด้านวรรณศิลป์ขณะศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี และทำงานต่อเนื่องมาโดยตลอด ใช้นามปากกา แดนอรัญ แสงทอง, มายา, เชน จรัสเวียง, อรัญวาสี เป็นทั้งนักเขียนและนักแปลอิสระ มีผลงานได้รับการยอมรับและตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารชั้นนำของประเทศเป็นล่ามให้กับ USAID THAILAND เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์หลายแห่ง และเป็นนักเขียนคำโฆษณา ทำงานแปลสลับกับการเขียน มีผลงานแปลมากกว่า 30 เล่ม เริ่มเขียนเรื่องสั้น ตั้งแต่ปี 2524 และสร้างสรรค์เรื่องสั้นที่โดดเด่นหลายเรื่อง ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ในลำดับชั้นเชอวาลิเย่ร์ (Chevalier du Arts et Lettre) ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ประเทศฝรั่งเศสและ ได้รับรางวัลศิลปาธร จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ต่อมาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2557จากรวมเรื่องสั้น อสรพิษและเรื่องอื่นๆ  และได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอื่นๆ ถึง 9 ภาษา  ตลอด 40 ปี มีงานเขียนนวนิยายและเรื่องสั้น 19 เล่ม งานแปล 33เล่ม ผลงานมีความโดดเด่นด้วยการนำเสนอที่เข้าถึงความเป็นมนุษย์อย่างลุ่มลึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image